กรมอุตุฯ เตือน! ทั่วทั้งประเทศไทยจะมี อากาศแปรปรวนบ่อย และบางพื้นที่อาจมีหลายสภาพอากาศในช่วง 1 วัน หากร่างกายปรับตัวไม่ทันอาจทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงอย่างเด็ก ผู้สูงวัย และผู้ที่เป็นโรคประจำตัว… วันนี้ Ged Good Life จึงขอฝากวิธีป้องกันโรค ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงที่อากาศกำลังแปรปรวนอยู่นี้ จะมีอะไรบ้าง มาติดตามกัน!
อากาศแปรปรวนบ่อย เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว เสี่ยงเป็นโรคอะไรบ้าง?
เมื่ออากาศเปลี่ยนแปลงฉับพลัน เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว มักทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน ภูมิต้านทานลดต่ำลง ยิ่งในช่วงโควิดระบาดอยู่ขณะนี้ ยิ่งอันตราย! โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงอย่างเด็ก ผู้สูงวัย และผู้ที่เป็นโรคประจำตัว เช่น โรคปอด โรคหัวใจ หอบหืด ถุงลมโป่งพอง ซึ่งโรคที่อาจจะเกิดได้บ่อย มีดังนี้
– โรคภูมิแพ้อากาศ
โรคภูมิแพ้ เป็นโรคที่คนไทยเป็นกันมาก โดยเฉพาะ โรคภูมิแพ้อากาศ ที่มักเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปีเลยทีเดียว ยิ่งในสภาวะอากาศแปรปรวน ยิ่งต้องระวัง โรคนี้มีอาการคล้ายไข้หวัด เช่น มีน้ำมูกใส มีเสมหะ เจ็บคอเล็กน้อย แต่จะไม่มีไข้
– ไข้หวัด
โรคยอดฮิตมีโอกาสเป็นได้ตลอดปี โรคไข้หวัดมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ทำให้เกิดไข้ น้ำมูก ไอ เจ็บคอ มีเสมหะ หากอาการไอรุนแรง อาจมีการติดเชื้อทางเดินหายใจที่บริเวณหลอดลม ควรรีบพบแพทย์
– ไข้หวัดใหญ่
ในช่วงที่อากาศหนาว ไวรัสจะเติบโตได้ดี และโรคไข้หวัดใหญ่ ก็มักจะระบาดในช่วงอากาศแบบนี้ แถมยังเป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่ายมาก ไข้หวัดใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ระบบทางเดินหายใจ มีอาการรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา อีกทั้งยังมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนตามมาด้วย
– ปอดบวม
หนึ่งในโรคที่มักมาพร้อมกับลมหนาว เกิดจากการติดเชื้อในปอด อาจเป็นได้ทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส หรือเชื้อรา ผู้ป่วยจะมีอาการ ไอ เจ็บหน้าอก เหนื่อย หอบ หายใจลำบาก บางคนอาจมีอาการไข้หนาวสั่นร่วมด้วย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปี ขึ้นไป และเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ขวบ ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง
– โรคระบบทางเดินอาหาร
เช่น อาหารเป็นพิษ และอุจจาระร่วง โดยมีสาเหตุจากอาหารบูดเน่าง่ายในช่วงหน้าร้อน อาจมีสารพิษ และแบคทีเรียปนเปื้อนอยู่ หากใครทานอาหารเหล่านี้เข้าไปจะก่อให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน ซึ่งถ้าหากอาการรุนแรงขึ้น มีเชื้อโรคปนเปื้อนเข้าไปในกระแสเลือด ก็อาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
อากาศแปรปรวนบ่อย ให้ระวังฝุ่นละออง “PM 2.5”
ลองหยิบมือถือมาเช็กค่าฝุ่นละออง PM2.5 ตอนนี้ดูสิ จะพบได้ว่า ค่าฝุ่นละออง PM2.5 ยังคงเป็นที่น่ากังวล ไม่ได้หายไปไหนเลย จึงต้องระวังด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัยที่สามารถกันฝุ่นได้อยู่เสมอ โดยฝุ่นละออง PM 2.5 เกิดขึ้นเมื่ออากาศนิ่ง ไม่ถ่ายเท และมลพิษจากท่อไอเสีย การเผาต่าง ๆ ก่อให้เกิดฝุ่นสะสมอยู่ในอากาศจำนวนมาก
อันตรายของฝุ่น PM2.5 สามารถเข้าสู่ทางเดินหายใจ ผ่านการกรองของขนจมูก และเข้าสู่ชั้นในสุดของปอดได้ ก่อให้เกิดโรคร้ายแรงต่าง ๆ ตามมา เช่น โรคหลอดลมอักเสบ โรคปอดอักเสบ โรคภูมิแพ้ผิวหนัง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลว เป็นต้น
ผู้ที่มีอาการแพ้ฝุ่น มักจะแสบจมูก คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ มีเสมหะ ระคายเคืองตา ตาแดง น้ำตาไหล หายใจลำบาก เป็นต้น หากใครมีอาการแพ้ฝุ่นอยู่บ่อย ๆ ไม่ควรประมาท อย่างน้อยควรมีหน้ากากอนามัย และ ยาแก้แพ้ ติดตัวไว้เสมอ
ดูแลป้องกันตัวเองอย่างไร ในช่วงที่อากาศแปรปรวนบ่อย?
อากาศแปรปรวนอย่างรวดเร็วส่งผลให้ร่างกายเจ็บป่วยได้ง่าย จึงควรดูแลสุขภาพตัวเอง และคนใกล้ชิดให้ดี โดยวิธีต่าง ๆ ดังนี้
1. เลือกเสื้อผ้าที่เหมาะสมกับสภาพอากาศ หากอากาศหนาวควรใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด อบอุ่น แต่หากอากาศร้อน ให้ใส่เสื้อผ้าที่โปร่ง โล่งสบาย ไม่อึดอัดเกินไป
2. นอนพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอในร่างกาย และห่มผ้าให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ
3. ไม่เครียด ไม่วิตกกังวลเกินไป เพราะ ความเครียดจะลดภูมิคุ้มกันลง ทำให้ร่างกายเราป่วยได้ง่าย
4. ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ โดยดื่มประมาณ 8 แก้วต่อวัน ด้วยน้ำอุณหภูมิปกติ ไม่ดื่มน้ำเย็น และเลี่ยงน้ำแข็งที่ไม่สะอาด มีเชื้อโรคปะปน
5. กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ สะอาด ถูกสุขอนามัย เลี่ยงอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ เพื่อป้องกันอาหารเป็นพิษ และท้องเสีย
6. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ด้วยการเดิน แกว่งแขน วิ่ง หรือ แอโรบิก
7. สวมใส่หน้ากากอนามัยอยู่เสมอ เพื่อป้องกันมลภาวะจากภายนอกเข้าสู่ทางเดินหายใจ
8. พกยาแก้แพ้ ถ้าหากคุณมีอาการแพ้บ่อย เช่น น้ำมูกไหล จามบ่อย ควรพกยาแก้แพ้ชนิดไม่ง่วง เช่น ลอราทาดีน ติดตัวไว้ก็จะช่วยได้ทันอาการแพ้
9. กลุ่มเสี่ยงที่เกิดโรคง่าย ควรดูแลสุขภาพตนเองให้ดี และหมั่นเช็กสภาพอากาศอยู่เสมอ
ถึงแม้สภาพอากาศในตอนนี้จะแปรปรวนอยู่บ่อย ๆ และไม่สามารถควบคุมได้ แต่การดูแลตนเองให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้ เพื่อเลี่ยงอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ตามมา… แต่หากใครมีความเจ็บป่วยรุนแรง หรือไม่สามารถรักษาได้ด้วยตนเอง ควรไปพบแพทย์เพื่อได้รับการวินิจฉัย และการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป
อ้างอิง : 1. รพ. พญาไท 2. มติชนออนไลน์