คุณแม่คงเคยชินกับอาการไอของลูกกันเป็นปกติ เวลามีอาการหวัด เจ็บคอ ก็จะมี อาการไอ ทั้งไอมีเสมหะ ไอไม่มีเสมหะ แต่ถ้าเกิดได้ยินเสียงอาการไอแปลกๆ ไอเสียงก้อง ๆ แบบที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน นั่นอาจจะเป็นสัญญาณของอาการ “ครูป” ก็เป็นได้
- อาการไอในเด็ก มักเกิดจากสาเหตุใด ไอแบบไหนอันตราย? พร้อมวิธีเลือกซื้อยาแก้ไอเด็ก
- ยาขับเสมหะ VS ยาละลายเสมหะ เมื่อลูกมีอาการไอ เลือกกินยาแบบไหน?
- ยาแก้ไอละลายเสมหะ “คาร์โบซิสเทอีน” สรรพคุณ วิธีใช้ให้ถูกต้อง ปลอดภัย
รู้จักอาการ “ครูป” ไอเสียงก้อง
ครูป (croup) เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากการติดเชื้อของทางเดินหายใจ ทำให้เกิดการอักเสบและบวมของกล่องเสียงและหลอดลมโดยเฉพาะที่ตำแหน่งใต้ต่อกล่องเสียง มักพบได้ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี และพบในเด็กอายุประมาณ 2 ปีบ่อยที่สุด
สาเหตุของอาการ ไอเสียงก้อง
- สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสของทางเดินหายใจ ที่พบเป็นสาเหตุบ่อยที่สุดคือ parainfluenza viruses
- เชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้อคอตีบ ที่ทำให้เป็นโรคคอตีบ
- การแพ้ ระคายเคือง ทำให้กล่องเสียงบวม
โดยในเด็กเล็ก ๆ ที่มีกล่องเสียงเล็กและทางเดินหายใจส่วนนี้แคบ หากเกิดการอักเสบ เกิดอาการบวมจะทำให้ทางเดินหายใจส่วนนี้อุดตันได้ ทำให้มีอาการไอเสียงก้อง ไอเสียงแหบ หายใจไม่สะดวก
ไอเสียงก้อง คือ อาการเริ่มแรกของครูป
- มีอาการไอเสียงแปลก ๆ ไอเสียงก้องที่ไม่คุ้นเคย บางคนบอกว่าเสียงเหมือนหมาเห่า
- มีน้ำมูก มีไข้ นอกจากอาการไอ ก็มีอาการคล้ายเป็นหวัด คือ มีน้ำมูก มีไข้
- มีแผ่นฝ้าขาว ในลำคอ
- มีปัญหาเวลาหายใจ หายใจลำบาก มีอาการหายใจเสียงดังครูปเวลาหายใจเข้า
อาการครูป รักษาอย่างไร?
เมื่อลูกมีอาการครูป แม่สามารถดูแลรักษาได้ตั้งแต่ที่บ้าน โดยดูแลรักษาตามอาการ โดยหากพบลูกมีอาการที่บอกว่าเป็นอาการครูป ให้ลองดูแล ดังนี้
– เช็ดตัว กินยาลดไข้ ถ้าลูกมีไข้ต่ำ ๆ ให้เช็ดตัวลดไข้อย่างถูกวิธี คือเช็ดด้วยน้ำเย็น เช็ดเปิดรูขุมขน เพื่อให้ร่างกายระบายความร้อน และอาจจะให้กินยาลดไข้ ที่มีตัวยาพาราเซตามอล โดยกินให้เหมาะสมกับน้ำหนักของเด็ก แต่ไม่ควรกินยาลดไข้ติดต่อกันนานเกิน 3-5 วัน
– ดื่มน้ำเยอะ ๆ ถ้าลูกมีอาการไอ ปกติถ้าเป็นการไอแบบมีเสมหะ อาจจะดื่มน้ำอุ่นเพื่อละลายเสมหะ แต่ถ้าเป็นการไอแบบเสียงก้อง ๆ ที่เกิดจากกาอาการครูป อาจจะให้ดื่มน้ำธรรมดา หรือน้ำเย็นนิดหน่อย ให้ลูกดื่มน้ำเพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยลดอาการบวม ของกล่องเสียง
– ใช้ไอน้ำลดอาการบวม วิธีการใช้ไอน้ำ หากมีเครื่องสร้างพ่นไอน้ำ สร้างไอน้ำในบ้าน ให้เปิดไว้ก็ได้ แต่ไม่ควรใช้น้ำมันหอมระเหยใด ๆ เพราะอาจทะให้ระคายเคือง หรือหาไม่มีเครื่องพ่นไอน้ำ อาจจะทำเองได้ด้วยการต้มน้ำใส่อ่าง หรือเปิดน้ำอุ่นในอ่างอาบน้ำ ให้ไอน้ำที่พุ่งออกมา ช่วยลดอาการบวมของกล่องเสียงได้
– ให้ลูกหยุดเรียน วิธีการที่ดีที่สุดคือการ นอนหลับ พักผ่อนเยอะ ๆ เมื่อลูกป่วยควรให้ลูกหยุดเรียน และพักผ่อนอยู่ที่บ้านแทน เพราะเป็นช่วงที่ร่างกายอ่อนแอ และอาจะได้รับเชื้อจากนอกบ้านมากขึ้น ควรหยุดพักผ่อน ให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา
เมื่อไหร่ที่ควรพาลูกไปพบหมอ?
ระหว่างที่ดูแลอาการลูกอยู่ที่บ้าน ต้องคอยดูอาการลูกว่าอาการดีขึ้น หรือเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ถ้าลูกมีอาการ ดังนี้ ควรรีบไปหาคุณหมอ
- มีอาการหายใจอกบุ๋ม
- มีอาการไอหนักไม่หายจนนอนไม่ได้ กินไม่ได้
- มีไข้สูง หายใจลำบาก
- ตัวเขียว อ่อนเพลียมาก
- พบแผ่นฝ้าขาวในลำคอ
- ถ้าลูกมีท่าหายใจแบบพยายามงับอากาศ
- ถ้าไม่แน่ใจว่าเป็นโรคครูป ก็ควรจะพาไปหาหมอเช่นกัน เพราะอาจเป็นโรคคอตีบได้
การป้องกันอาการครูป
– ต้องระวัง ไม่ให้ลูกป่วยเป็นไข้หวัด โดยเฉพาะเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 2 ปี เพราะสาเหตุส่วนใหญ่เกิดการติดเชื้อไวรัส เช่น influenza A และ B
– หลีกเลี่ยงการพาเด็กเล็กไปในที่แออัด เช่น ตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า สวนสนุก โดยเฉพาะช่วงที่มีไข้หวัดระบาด
– เวลาป่วยห้ามใกล้ชิดเด็ก ถ้ามีคนในครอบครัวเป็นหวัด ไม่ควรอยู่ใกล้ชิด สัมผัสเด็ก หรือต้องใช้ผ้าปิดปากปิดจมูกเมื่ออยู่ใกล้เด็ก
– ล้างมือบ่อย ๆ ถ้าหากสงสัยว่าอาจจะมีอาการป่วย ต้องล้างมือทุกครั้ง ก่อนสัมผัสเด็ก
– รักษาความสะอาดบ้าน อุปกรณ์ เฟอร์นิเจอร์ ข้าวของเครื่องใช้เด็ก ของเล่น ให้สะอาดเสมอ ใช้น้ำยาทำความสะอาด ฆ่าเชื้อเช็ดล้างทำความสะอาด
– สังเกตอาการไอของลูก ถ้าลูกมีอาการไอให้คอยสังเกตเสียงไอ และรูปแบบการไอของลูกว่าไอแบบไหน ไอแบบปกติ ไอมีเสียงอะไรหรือไม่ เวลาไอหน้าอกเป็นแบบไหน เป็นต้น