ฉันอยู่เป็นโสดคนเดียวก็มีความสุข สบายดี ไม่เห็นต้องมีใครเข้ามาในชีวิต กินข้าวคนเดียว ดูหนังคนเดียว ไปเที่ยวคนเดียว ปิดประตูล็อคหัวใจไม่ให้ใครเข้ามา แต่ที่บอกตัวเองว่ามีความสุขกับการเป็นโสด จริงๆ แล้วคุณกำลังเป็น โรคกลัวความรัก อยู่หรือเปล่า?
โรคกลัวความรัก มันมีจริงหรือ?
ใครที่เคยมีเพื่อนมาปรึกษาว่าอกหัก ไม่อยากมีความรักแล้ว กลัวความรัก แต่จริง ๆ แล้ว นั่นอาจจะไม่ใช่โรคกลัวความรักแต่แค่เซฟตัวเองจากความเจ็บปวด โรคกลัวความรักที่แท้จริงนั้นเป็นโรคทางจิตเวชประเภทหนึ่งในกลุ่มอาการวิตกกังวล
โรคกลัวการตกหลุมรัก (Philophobia) หรือ โรคกลัวความรัก เป็นความกลัวเมื่อต้องเริ่มต้นสร้างความสัมพันธ์กับใคร โรคนี้ไม่ได้น่ากลัวหรืออันตราย แต่หากมีอาการมากเกินไปอาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน คือ วิตกกังวล กระสับกระส่าย เก็บตัว หลบหนีจากผู้คน ไม่กล้าเข้าสังคม
ความรักที่ใครก็ตามหา ทำไมถึงต้องกลัวด้วยล่ะ?
● เจ็บปวดจากครอบครัว เช่น ลูกที่พ่อแม่ทะเลาะกัน หย่ากัน หรือมีความรุนแรงในครอบครัว หรือมีความรู้สึกที่ไม่ดีในครอบครัว ก็สร้างรอยแผลทำให้กลัวและไม่เชื่อมั่นในความรักหรือการสร้างครอบครัว กลัวว่ารักที่สวยงามโรแมนติกในตอนเริ่ม แต่จุดสิ้นสุดกลับกลายเป็นความเศร้า
● อกหัก แผลรักจากอดีต คนที่มีประสบการณ์รักผิดหวังรุนแรง หรือ อกหักมาหลายครั้ง ทำให้เข็ดกับความรัก จนส่งผลให้เป็นโรคกลัวความรักไปเลย
● วัฒนธรรมหรือศาสนา ในบางสังคมวัฒนธรรมที่จับคลุมถุงชน โดนบังคับให้แต่งงานทั้งที่ไม่ได้เกิดจากความรัก หรือเคร่งครัด มีกฏระเบียบเรื่องความสัมพันธ์มากเกินไป โดนกีดกันความรักจากครอบครัว
● ไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง ขาดความเชื่อมั่น หรือการเคารพตัวเอง ไม่เห็นว่าตัวเองมีคุณค่า เหมาะสมพอที่จะได้รับความรักจากใคร ทำให้เลือกที่จะปิดตัวเอง
เช็กลิสต์ สัญญาณว่าคุณอาจจะเป็นโรคกลัวความรัก?
- ไม่กล้าเริ่มต้นสร้างความความสัมพันธ์กับใคร ไม่เปิดใจเมื่อมีคนมาชอบ
- เมื่อต้องเริ่มความสัมพันธ์ เจอโมเม้นต์หวาน ๆ เช่น มีคนมาจีบ จะมีอาการเครียดวิตกกังวล กระสับกระส่าย หายใจถี่ หัวใจเต้นเร็ว คลื่นไส้ เหมือนจะเป็นลม
- เหม็นความรัก ไม่ชอบดูหนังรัก รับไม่ได้กับเรื่องโรแมนติก กลัวการไปงานแต่งงาน
- เก็บตัว ชอบอยู่คนเดียว ไม่กล้าเข้าสังคม ไม่ไว้ใจใคร
- บางคนอาจจะมีเซ็กซ์ได้แค่มีความรู้สึกทางกาย แต่จะรู้สึกเครียด วิตกกังวล อึดอัดใจหลังมีเซ็กส์
โรคนี้รักษาได้ ถ้าไม่อยากอยู่ตัวคนเดียวอีกต่อไป
ถ้าเริ่มรู้สึกว่าโรคนี้มีอาการรุนแรง เริ่มส่งผลกับชีวิต อาจจะต้องเริ่มปรึกษาจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา การรักษา มี 3 แนวทางหลัก ๆ คือ
● พฤติกรรมบำบัด พูดคุยกับจิตแพทย์ ให้ช่วยปรับทัศนคติต่อความรัก หรือความสัมพันธ์ ทำให้มองความรักในแง่บวก หาแง่ดีของความรัก
● เผชิญหน้ากับความกลัว ถ้ากลัวอะไรก็ให้เผชิญหน้าตรงๆ กับสิ่งนั้น แต่ต้องมีจิตแพทย์คอยแนะนำ เช่น ถ้ากลัวความรัก จิตแพทย์อาจจะให้ลองหักดิบความกลัว เช่น เข้าไปคุยกับเพศตรงข้ามก่อนเลย หรือทำอะไรหวาน ๆ เลี่ยน ๆ ที่ไม่อยากทำ เช่น ไปดูหนังรัก ไปงานแต่งงาน
● รักษาด้วยการใช้ยา สุดท้ายถ้าลองปรับพฤติกรรมแล้ว แต่อาการวิตกกังวล หวาดกลัวยังไม่ดีขึ้น อาจต้องใช้ยารักษา
โรคกลัวความรัก ปล่อยไว้ อันตรายไหม?
โดยปกติโรคกลัวความรักไม่ได้อันตราย แต่หากมีอาการรุนแรง หรือมีอาการอื่นแทรกซ้อน และไม่ได้รับการบำบัดรักษา อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดผลกระทบรุนแรง คือ
● กลายเป็นคนหลีกหนีจากสังคม ไม่พบปะผู้คน
● เป็นโรคซึมเศร้า วิตกกังวล
● เสี่ยงติดยาหรือติดแอลกอฮอล์
● ฆ่าตัวตาย
ธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนต้องการความรัก GedGoodLife ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังหวาดกลัวจากความรัก ให้กล้าเผชิญหน้ากับความกลัว และเริ่มต้นที่จะรักใครสักคนได้อีกครั้ง
ถามหมอออนไลน์ ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี