เชื่อว่าใครหลาย ๆ คน ต่างเคยมีประสบการณ์กับ อาการภูมิแพ้ เช่น น้ำมูกใสไหล จาม คันตา กันมาบ้างแล้วในชีวิตนี้ แต่หากจะตั้งคำถามว่า คุณรู้จัก ภูมิแพ้ ดีแค่ไหน? หลายคนอาจจะลังเลสงสัย และตอบกันไม่ถูกว่าภูมิแพ้เกิดจากอะไร ทำไมถึงเป็นกัน… งั้นมาเช็คให้แน่ใจ เคลียร์ข้อสงสัยไปกับ GedGoodLife กันเลยว่า โรคภูมิแพ้คืออะไร ทำไมคนมักเป็นกัน มาติดตามไปพร้อม ๆ กันเลย!
ภูมิแพ้…คือโรค หรือแค่อาการ ?
ภูมิแพ้ เป็นกลุ่มของโรค / อาการ ที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายซึ่งเป็นระบบกลไกที่มีหน้าที่ป้องกันร่างกายจากสิ่งแปลกปลอมภายนอก เช่น เชื้อโรคต่าง ๆ สารเคมี ฝุ่น พืช ละอองเกสร ขนสัตว์ เป็นต้น มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเหล่านี้มากกว่าปกติ หรือไวเกินกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการแพ้ขึ้น
ซึ่งคนปกติทั่วไปจะไม่มีอาการตอบสนองไวดังกล่าว และเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นสัมผัส หรือเข้าสู่ร่างกาย ก็จะไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายเช่น ไรฝุ่น ละอองเกสรพืช
และโดยมากคนที่เป็นโรคภูมิแพ้มักมีแนวโน้มที่จะเกิดการตอบสนองไวกว่าปกติต่อสิ่งกระตุ้นที่ไม่ใช่สารก่อภูมิแพ้ได้ เช่น ความเย็น ความร้อน ความกดอากาศต่ำ หรือฝน ความชื้น ซึ่งภาวะนี้อาจอยู่นานเป็นวัน หรือเป็นเดือนก็ได้ และสามารถเกิดอาการได้โดยไม่จำเป็นต้องสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้
ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ภูมิแพ้มีลักษณะที่เป็นทั้งโรค และเป็นเพียงอาการ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะเรียกกันตามระดับความรุนแรงของการตอบสนองของร่างกายเช่น โรคภูมิแพ้ ทางเดินหายใจ หรือ อาการแพ้ฝุ่นละอองและไรฝุ่น
- “ไรฝุ่น” ภัยเงียบ ร้ายลึก สาเหตุของโรคภูมิแพ้!
- “ภูมิแพ้เกสรดอกไม้” สาเหตุ อาการ และวิธีรักษา
- ฟัดด้วยทีไร ฮัดเช่ยทุกที! “ภูมิแพ้ขนสัตว์” สาเหตุ อาการ และวิธีรักษา
ภูมิแพ้มีมานานแค่ไหน แล้วใครที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคนี้
มีบันทึกทางการแพทย์ อย่างชัดเจนเมื่อกว่า 150 ปีที่แล้ว เมื่อนายแพทย์ชาวอังกฤษ ท่านหนึ่งได้บันทึกถึงอาการผิดปกติของตนเอง ที่มีอาการจาม น้ำมูกใสไหล มีอาการเคืองตา มีน้ำตาไหลตลอดเวลาในช่วงฤดูร้อน ปี ค.ศ. 1958 โดยเรียกอาการที่ปรากฏว่า “ไข้หวัดฤดูร้อน – Summer colds” และนั่นก็ถือเป็นครั้งแรกที่เริ่มมีการศึกษาถึงที่มา สาเหตุของอาการดังกล่าวอย่างจริงจัง
จนกระทั่งภายหลังสงครามโรคครั้งที่ 2 ที่ทั่วโลกต่างมีการพูดถึงโรคภูมิแพ้กันอย่างจริงจัง และได้มีการขยายขอบเขตในการศึกษาวิจัยค้นคว้าออกไปในหลากหลายด้าน อาทิ อาการแพ้ที่เกิดจากสารเคมีสังเคราะห์ต่าง ๆ เช่น ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และการดูแลผิว รวมถึงอาการภูมิแพ้ที่เกิดจากสาเหตุการบริโภคอาหารบางประเภท
- น้ำลายสอ แต่กินไม่ได้ “ภูมิแพ้อาหาร” เป็นอย่างไร รับมือยังไงดี?
- กรีดร้องงง! แพ้เครื่องสำอาง จนหน้าพัง จะแก้ไขยังไงดี!?
สถานการณ์ของโรคภูมิแพ้มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนทั่วโลก และในประเทศไทยเอง จากการสำรวจล่าสุดพบว่ามีผู้ที่เผชิญกับโรคภูมิแพ้ เพิ่มขึ้นถึงกว่า 3 – 4 เท่า ภายในระยะเวลา 40 ปี ที่ผ่านมา โดยแบ่งแยกได้เป็น
- โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ร้อยละ 23-30
- โรคหลอดลมอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคหืด ร้อยละ 10-15
- โรคผื่นผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ ร้อยละ 15
- โรคแพ้อาหาร ร้อยละ 5
ตามข้อมูลในรายงานยังพบว่าอัตราการเกิดอาการภูมิแพ้จะพบในเด็กจะสูงกว่าในผู้ใหญ่อย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย
ภูมิแพ้เป็นโรคที่มีความแปลกประหลาดอีกอย่างหนึ่งคือ ลักษณะการแสดงออกของ อาการภูมิแพ้ของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน เช่น บางคนแพ้แล้วคัน บางคนแพ้แล้วคัดจมูก บางคนแพ้แล้วมีผื่นขึ้น ดังนั้นโรคภูมิแพ้ จึงเป็นกลุ่มของโรคที่แสดงอาการได้กับหลายระบบของร่างกาย ซึ่งบางอาการยังไม่พบมากนัก หรือยังไม่มีข้อมูลบ่งชัดว่าอยู่ในกลุ่มของโรคภูมิแพ้
โรคภูมิแพ้ มักจะถูกเรียกควบคู่ไปกับอาการที่แสดงออกมา หรือบริเวณที่โรคภูมิแพ้เป็น เช่น
- ถ้าเป็นที่จมูก มักจะเรียกว่า โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ หรือโรคแพ้อากาศ
- ถ้าเป็นที่ผิวหนัง เรียกว่า โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้
มีอีกคำถามที่เป็นที่สงสัยกันมากว่า ทำไมตอนเด็ก ๆ ก็ไม่แพ้อะไร ทำไมโตขึ้นมาถึงแพ้ได้ ซึ่งต้องขออธิบายอย่างนี้ว่า การแสดงออกของ อาการภูมิแพ้ หรือ โรคภูมิแพ้นี้ จะเกิดขึ้นเร็ว หรือช้า จะเกิดขึ้นในวัยเด็ก หรือในวัยผู้ใหญ่ ขึ้นอยู่กับยีน หรือพันธุกรรมที่จะแสดงออก โดยมีสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยกระตุ้น
จริงหรือไม่ ที่คนยุคนี้เป็นโรคภูมิแพ้กันมากขึ้น ?
ภูมิแพ้ มีสาเหตุหลักจากองค์ประกอบ สองอย่างสำคัญ คือในเรื่องของ 1. กรรมพันธุ์ 2. สิ่งแวดล้อมพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยมักมีคำถามที่ถามกันอยู่เสมอ ๆ ว่าถ้าทั้งพ่อและแม่ เป็นภูมิแพ้ ลูกจะมีโอกาสเป็นภูมิแพ้มากน้อยแค่ไหน? โดยจากข้อมูทางสถิติพบว่า
- ถ้าพ่อ หรือแม่ คนใดคนหนึ่งเป็นโรคภูมิแพ้ จะทำให้ลูกมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ประมาณร้อยละ 30-50
- แต่ถ้าทั้งพ่อและแม่เป็นโรคภูมิแพ้ทั้งคู่ จะมีผลให้ลูกมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้มากขึ้นถึงร้อยละ 50-70
- ในขณะที่เด็กที่มาจากครอบครัว ที่ไม่มีประวัติโรคภูมิแพ้เลย มีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ เพียงร้อยละ 10
และนอกเหนือจากปัจจัยภายในอย่างเรื่องพันธุกรรมแล้ว สิ่งแวดล้อม ยังมีอิทธิพลต่อการเกิดโรคภูมิแพ้ในระยะหลัง ๆ มานี้อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งด้วยวิถีการดำรงชีวิตที่เปลี่ยนไป เช่น การใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยมลพิษในปัจจุบัน ผู้คนในเมืองใหญ่ ที่เต็มไปด้วยการจราจรที่คับคั่ง ตึกรามบ้านช่องที่สูงปิดกันการหมุนเวียนถ่ายเทของอากาศบริสุทธิ์ จนเกิดมลภาวะฝุ่นขนาดเล็ก หรือที่เรารู้จักกันดีในตอนนี้ในชื่อ PM2.5
ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน อุปมาให้เห็นภาพได้ว่ามีขนาดประมาณ 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผมคน เล็กจนขนจมูกของมนุษย์ที่ทำหน้าที่กรองฝุ่นนั้นไม่สามารถกรองได้ จึงแพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และเข้าสู่อวัยวะอื่น ๆ ในร่างกายได้ ก็เป็นปัจจัยเสริมทำให้อาการของโรคภูมิแพ้ทวีความรุนแรง และความถี่ขึ้น
- วิกฤติฝุ่นพิษ PM 2.5 รับมืออย่างไรให้อยู่หมัด
- “4 แอปพลิเคชัน วัดค่าฝุ่นละออง” โหลดด่วน! รู้ทันมลพิษ PM2.5
- เรื่องเล่าจากหมอกอล์ฟ : สาวเมืองกรุง กับฝุ่น PM2.5
แนวทางในการดูแลรักษาโรคภูมิแพ้ในปัจจุบัน
โรคภูมิแพ้นั้นถ้าไม่ได้รับการดูรักษาที่เข้าอกเข้าใจในธรรมชาติของมัน แม้ไม่ได้ส่งผลให้เกิดอันตรายร้ายแรง แต่มักจะบั่นทอนทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ที่มีอาการนั้น แย่ลงกว่าคนปกติ เช่น การเกิดอาการคัดจมูกในเวลากลางคืนทำให้นอนอ้าปากหายใจ จึงตื่นมาด้วยอาการปากแห้ง รู้สึกเหมือนนอนหลับไม่สนิท สมาธิสั้น
ถ้าอาการเหล่านี้เกิดขึ้นในเด็กก็อาจทำให้มีปัญหาการหลับในเวลาเรียน ความคิดความจำสั้น เรียนและทำงานได้ไม่เต็มที่ และอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาได้อีกมากมาย รวมถึงทำให้รู้สึกไม่สดชื่น มีความอ่อนเพลียหงุดหงิดง่าย
ซึ่งปัจจุบันแนวทางในการดูแลรักษาจะใช้วิธีการรักษาตามอาการ และ การพยายามหลีกเลี่ยงเหตุที่กระตุ้นทำให้เกิดอาการมากขึ้น รวมถึงการการดูแลสุขภาพร่างกาย และจิตใจให้สมบูรณ์แข็งแรงอยู่อย่างเสมอโดย
- การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- รับประทานอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกาย
- ดูแลระบบขับถ่ายให้ดี
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
ก็จะสามารถช่วยบรรเทาอาการแก้ภูมิแพ้ให้ลดลง และระยะเวลาที่แพ้ให้สั้นลงได้ เนื่องจากโรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมไม่ให้มีอาการ หรือมีอาการน้อยที่สุด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยได้
หากมีอาการที่ค่อนข้างรุนแรง หรือสร้างความวิตกกังวลใจให้อย่างมาก ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจสอบสาเหตุ และวางแผนในการรักษาที่ถูกต้อง ซึ่งปัจจุบันก็มี ยาที่ช่วยบรรเทาอาการแพ้ให้ทุเลาดีขึ้นอยู่หลายกลุ่ม
ซึ่งการใช้ ยาแก้แพ้นาน ๆ ติดต่อกันเป็นเดือน ก็ไม่ได้มีผลเสีย ถ้าผู้ป่วยมีการทำงานของตับ และไตที่ปกติ เพราะยาแก้แพ้จะถูกกำจัดออกจากร่างกายโดยผ่านตับ และไต แต่ถ้าตับ และไตทำงานผิดปกติ อาจมีการสะสมของยาในร่างกายได้ ซึ่งผู้ที่มีความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคไต จึงควรได้รับคำแนะนำโดยตรงจากแพทย์อีกครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ดีการใช้ยาแก้แพ้ ติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน เป็นเพียงการรักษาที่ปลายเหตุ ผู้ป่วยจึงควรวิเคราะห์หาสาเหตุที่ชัดเจนของอาการแพ้ที่ปรากฏต่อตนเอง เพื่อไปแก้ที่ต้นเหตุ รวมถึงการดูแลสุขภาพทั้งร่างกาย และจิตใจให้แข็งแรงอย่างสม่ำเสมอ อย่างการออกกำลังกายประเภท แอโรบิค เช่น การวิ่ง, เดินเร็ว, ว่ายน้ำ, เต้นแอโรบิค, เป็นต้น อย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3 วัน เท่านั้น อาการภูมิแพ้ก็จะไม่ค่อยกลับมารบกวนคุณ จนคุณอาจลืมไปเลยว่าครั้งสุดท้ายที่โรคกำเริบคือเมื่อไหร่กันแน่…
อ้างอิง : nationalgeographic.com
ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี
TikTok : @gedgoodlife