ริดสีดวงจมูก แค่ได้ยินก็หยึยแล้ว! แต่รู้มั้ยว่า เจ้าริดสีดวงจมูก หรือเนื้องอกในจมูกนี้ เป็นผลต่อเนื่องมาจาก ไซนัสอักเสบที่เราคุ้นหูกันดีนี่เอง! แล้วจะทำยังไงกันดีล่ะ มีวิธีไหน ที่จะป้องกันไม่ให้เป็นริดสีดวงจมูกได้บ้าง วันนี้เรามีคำตอบมาให้คุณแล้ว
ริดสีดวงจมูก คืออะไร?
ริดสีดวงจมูก (Nasal Polyp) เป็นติ่งเนื้อ หรือก้อนเนื้อเมือกในโพรงจมูก ที่มักไม่มีอันตรายร้ายแรง เว้นแต่ว่า ถ้าก้อนติ่งเนื้อโตมากจะทำให้หายใจไม่สะดวก และสูญเสียการรับรู้กลิ่นไปได้ เป็นโรคทางจมูกและไซนัส เมื่อเป็นขึ้นมาครั้งหนึ่งแล้ว ก็มักจะเป็นซ้ำได้อีก ส่วนใหญ่พบมากในผู้ใหญ่อายุ 20 – 40 ปี (ในเด็กจะพบน้อยมาก) และในผู้ที่เป็นโรคหืด เป็นหวัด ภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบเรื้อรัง
ริดสีดวงจมูกเกิดจากอะไร?
โดยทั่วไปแล้ว ริดสีดวงจมูกมักเกิดจากสาเหตุหลายอย่างรวมกัน เช่น
- การอักเสบ และการติดเชื้อของเยื่อบุจมูก และเยื่อบุไซนัส ที่เกิดซ้ำ ๆ และบ่อย ๆ จนส่งผลให้เยื่อบุจมูกบวม
- การตีบแคบของทางเดินอากาศในโพรงจมูก และไซนัส ทำให้การไหลเวียนอากาศผิดปกติ และเกิดการบวมอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุจมูก และไซนัส
- ความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติ ที่ควบคุมหลอดเลือดของเยื่อบุจมูก และเยื่อบุไซนัส ส่งผลให้มีของเหลวไหลออกจากหลอดเลือดจนเกิดการบวมเรื้อรัง และกลายเป็นก้อนเนื้อในที่สุด
- มีเชื้อราในจมูก
- เป็นโรคไซนัสอักเสบ ภูมิแพ้ หรือหอบหืด
- พันธุกรรม
อาการของริดสีดวงจมูก
เมื่อก้อนริดสีดวงจมูก หรือติ่งเนื้อเมือก มีขนาดใหญ่ขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการดังต่อไป
- มีก้อนริดสีดวงจมูกหลายก้อน และมักพบขึ้นทั้ง 2 ข้างของโพรงจมูก
- ก้อนริดสีดวงจมูก จะเป็นก้อนเนื้อนุ่ม ผิวค่อนข้างเรียบใส มีสีขาวเทา หรือสีออกขาวเหลือง ซีด ๆ ขุ่นๆ
- คัดจมูก แน่นจมูก คัดจมูกหายใจไม่ออก โดยมักมีอาการเรื้อรังเป็นเวลานาน
- รับรู้กลิ่นหรือรสชาติได้น้อยลง
- มีน้ำมูกไหลลงคอ
- น้ำมูกอาจมีลักษณะใส ขุ่นข้น เหนียว หรือมีสีเหลืองเขียว น้ำมูกมีกลิ่นเหม็น
- รู้สึกปวด แน่น บริเวณหัวคิ้วหรือโหนกแก้ม
- ในผู้ที่มีอาการไซนัสอักเสบร่วมด้วย มักปวดใบหน้าบริเวณไซนัสที่อักเสบ
- ปวด หรือมึนศีรษะ มีไข้ อ่อนเพลีย เจ็บคอ ปวดหู
- ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น
- นอนกรน หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
การรักษาริดสีดวงจมูก
การรักษา ริดสีดวงจมูก จะเน้นไปที่การกำจัด หรือทำให้ริดสีดวงจมูกมีขนาดเล็กลง เพื่อให้จมูกโล่งขึ้น และหายใจทางจมูกได้ตามปกติ เพื่อลดอาการ คัดจมูกเรื้อรัง น้ำมูกไหล คัน จาม และ น้ำมูกไหลลงคอ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมารับรู้กลิ่นได้ตามปกติ รวมถึงเพื่อรักษาโรคอื่น ๆ ที่เกิดร่วมกับริดสีดวงจมูก เช่น ไซนัสอักเสบ และป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำอีก โดยวิธีการที่แพทย์มักใช้ในการรักษาริดสีดวงจมูก คือ
- ใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดพ่นจมูก กิน หรือฉีด ในรายที่ริดสีดวงจมูกมีขนาดเล็ก เพื่อลดขนาดของริดสีดวงจมูก และช่วยให้ผู้ป่วยได้รับกลิ่นดีขึ้น
- ผ่าตัดเอาริดสีดวงจมูกออกแบบธรรมดา ใช้ลวดคล้องและดึงริดสีดวงจมูกออกมา จะเป็นการผ่าตัดเอาริดสีดวงจมูกออกเท่านั้น ไม่ได้ผ่าตัดเข้าในโพรงไซนัส แต่วิธีนี้ทำให้มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้สูง
- การผ่าตัดริดสีดวงจมูกและไซนัส ด้วยวิธีส่องกล้องเข้าไปในโพรงไซนัส หรือการผ่าตัดผ่านทางจมูกโดยใช้กล้องเทโลสโคป เป็นการผ่าตัดเอาริดสีดวงจมูกออก ร่วมกับผ่าตัดเข้าไปในโพรงไซนัส โดยใช้กล้องเทโลสโคป เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพดีกว่าการผ่าตัดแบบธรรมดา แต่ยุ่งยาก และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย
วิธีป้องกันริดสีดวงจมูก
- แก้อาการคัดจมูก ด้วยการหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้คัดจมูก คันจมูก หรือทำให้จาม
- ห้ามสั่งน้ำมูกแรง ๆ หากน้ำมูกไหล ให้ใช้ผ้าหรือกระดาษที่ซับน้ำได้ดีซับออก เพราะจะทำให้เยื่อเมือกช้ำ
- ห้ามใช้ยาหยอดจมูก ยาพ่นจมูก หรือยานัตถุ์ทุกชนิด
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น
- หากเป็นโรคหืด หวัด ภูมิแพ้ หรือไซนัสอักเสบ ควรรับการรักษาอย่างจริงจัง เพื่อลดโอกาสเสี่ยง
- ล้างจมูกโดยใช้น้ำเกลือ เพื่อล้างสารก่อภูมิแพ้ และลดการระคายเคืองของจมูก
จมูก เป็นอวัยวะสำคัญที่ติดเชื้อได้ง่าย เนื่องจากการหายใจเข้า อาจนำเอาเชื้อโรคในอากาศเข้าร่างกายของเราไปพร้อมกันด้วย ดังนั้น เราจึงควรดูแลใส่ใจจมูก เพื่อป้องกันโรคทางระบบหายใจต่างๆ และหมั่นสังเกตถึงความผิดปกติ เพื่อที่จะได้สามารถรักษาได้ทัน ก่อนที่จะลุกลาม และกลายเป็นโรคร้ายแรงไป