นพ. อุดมรัช โกวิททวิพัฒน์
ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินอาหารและตับ รพ.พญาไท นวมินทร์
กรดไหลย้อนทำให้มีกลิ่นปากจริงหรือไม่? คำตอบคือ จริง เพราะกรดไหลย้อน มีอาการได้หลายแบบ เช่น
- กลุ่มอาการของหลอดอาหาร (esophageal syndrome) เช่น แสบร้อนยอดอก (heart burn) , เรอเปรี้ยว (regurgitation) , อาการเจ็บแน่นหน้าอก (reflux chest pain syndrome) เป็นต้น
- กลุ่มอาการนอกหลอดอาหาร (extraesophageal syndrome) เช่น อาการไอ (reflux cough syndrome) กล่องเสียงอักเสบ เสียงแหบ กลิ่นปาก (halitosis) อาการหอบหืด (reflux asthma syndrome) จุกแน่น หรือรู้สึกมีก้อนอาหารค้างในลำคอ (Globus sensation) หูอักเสบ ฟันกร่อน เป็นต้นกลไกที่ทำให้เกิดกลิ่นปาก
กรดไหลย้อนทำให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาในหลอดอาหารและช่องปาก กรดนี้สามารถทำให้เกิดการระคายเคืองและทำลายเนื้อเยื่อในช่องปาก นอกจากนี้ กรดที่ไหลย้อนขึ้นมายังสามารถนำเอาเศษอาหารและแบคทีเรียจากกระเพาะอาหารขึ้นมาด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุสำคัญของกลิ่นปาก
สาเหตุอื่นๆ ของกลิ่นปาก
ถึงแม้กรดไหลย้อนจะเป็นสาเหตุหนึ่งของกลิ่นปาก แต่สาเหตุส่วนใหญ่ (ประมาณ 90%) มักเกิดจากปัญหาภายในช่องปากเอง เช่น คราบจุลินทรีย์และเศษอาหารที่สะสมอยู่ตามซอกฟันและลิ้น ดังนั้น หากมีปัญหากลิ่นปาก ควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง
การรักษาโรคกรดไหลย้อน สามารถแบ่งได้ 2 แบบ
- การรักษาด้วยการปรับพฤติกรรม
เช่น การลดน้ำหนัก การออกกำลังกาย การทานอาหารมื้อเย็นน้อยๆ และให้ห่างจากเวลาเข้านอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง การนอนหัวสูง การลดความเครียด เป็นต้น
- การรักษาด้วยการใช้ยา
อาจมีการใช้ยาร่วมกัน หลายชนิด เช่น ยาลดกรด ยาแก้ภูมิแพ้ ซึ่งบางครั้งอาจต้องใช้เวลา 1-3 เดือน อาการจึงค่อยๆ ดีขึ้น และสามารถลดยา จนหยุดยาได้
ถ้าอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการเตือน (alarm features) เช่น กลืนลำบาก เลือดออกทางเดินอาหาร ซีดลง น้ำหนักลดโดยไม่ตั้งใจ อาเจียนมากกว่า 10 ครั้งต่อวัน กลืนเจ็บ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาส่องกล้องทางเดินอาหาร ซึ่งอาจพบภาวะแทรกซ้อนของโรคกรดไหลย้อน หรือ มะเร็งทางเดินอาหารได้