นายแพทย์ยงยุทธ หวังรุ่งทรัพย์
สมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย
ท่านทราบไหม? วิถีชีวิตแบบสังคมเมืองเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคหลายอย่างตามมา โดยไม่รู้ตัว โรคหนึ่งที่พบเห็นกันบ่อยในปัจจุบันคือ โรคกรดไหลย้อน หรือที่เรียกกันว่า GERD (Gastro-Esophageal Reflux Disease)
อาการของโรคกรดไหลย้อน หรือ GERD คือ มีอาการรู้สึกจุกเสียด แน่นท้องบริเวณลิ้นปี่ หรือปวดแสบร้อนบริเวณหน้าอกเหนือลิ้นปี่ ที่เรียกว่า Heartburn อาการจุกแน่นอาจลามมาถึงบริเวณคอ มักเกิดหลังรับประทานอาหารเสร็จใหม่ๆ บางท่านอาจรู้สึกมีรสเปรี้ยวหรือขมในบริเวณปากและคอ
บางทีอาจพบเศษอาหารขย้อนขึ้นมาถึงปาก อาการจุกเสียดอาจนานถึง 2 ชั่วโมง และจะแย่มากขึ้นถ้ากลืนอาหาร หรืองอตัวลง หรือนอนราบ แต่จะดีขึ้นถ้ายืนขึ้น หรือรับประทานยาลดกรดในกระเพาะอาหาร จำพวก Antacid เพราะยาจะไปลดความเป็นกรดในหลอดอาหาร
นอกจากนี้ บางท่านตื่นขึ้นมาตอนเช้า อาจรู้สึกปากขมหรือเปรี้ยวในปากและคอ เนื่องจากมีน้ำย่อยหรือเศษอากหารไหลย้อนมาถึงปากและคอ บางท่านอาจกลืนติดขัด มีกลิ่นปาก ฟันผุ เสียงแหบ หรือไอเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ จนคิดว่าเป็นโรคหืด แต่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาตามปกติ
ปัจจัยเสี่ยงของโรคกรดไหลย้อน หรือ GERD เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุด้วยกัน คือ
1. ระบบย่อยอาหารทำงานผิดปกติ
1) หูรูดส่วนปลายของหลอดอาหารทำงานผิดปกติ มักคลายตัวบ่อยหรือปิดไม่สนิท ทำให้อาหารและน้ำย่อยในกระเพาะอาหารถูกดันกลับขึ้นมาสู่หลอดอาหาร เป็นผลทำให้เกิดภาวะกรดไหลย้อน
2) ภาวะที่กระเพาะอาหารทำงานผิดปกติ บีบตัวน้อยลงหรือไม่บีบเลย (Gastroparesis) ทำให้อาหารและน้ำย่อยคั่งค้างอยู่ในกระเพาะอาหารนานกว่าปกติ เป็นผลให้ความดันในกระเพาะอาหารสูงเกินกว่าที่หูรูดหลอดอาหารส่วนปลายที่ต่อกับกระเพาะอาหารจะรองรับได้ จึงคลายตัวเปิดออก ทำให้อาหารและน้ำย่อยถูกดันออกจากกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร เกิดภาวะกรดไหลย้อน นอกจากนี้ อาหารประเภทไขมันสูงและช็อกโกแลต จะทำให้กระเพาะอาหารมีแรงบีบตัวลดลงอีกด้วย
3) ภาวะหลอดอาหารบีบตัวผิดปกติ ทำให้อาหารที่กลืนลงไปสู่กระเพาะอาหารเคลื่อนตัวลงช้า หรืออาหารอาจไหลย้อนขึ้นมาจากกระเพาะอาหาร แล้วค้างอยู่ในหลอดอาหารนานกว่าปกติความผิดปกติเหล่านี้ อาจเกิดจากการดื่มชา กาแฟ และรับประทานยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคหอบหืดบางตัว
2. ประเภทอาหารและเครื่องดื่มที่รับประทาน
1) อาหารและเครื่องดื่มบางชนิด อาจทำให้หูรูดส่วนปลายของหลอดอาหารที่ต่อกับกระเพาะอาหารคลายตัว เช่น อาหารที่มีไขมันสูง ของทอด ช็อกโกแลต ชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เปปเปอร์มินต์ แอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ เป็นต้น
2) อาหารและเครื่องดื่มบางชนิดอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองบริเวณหูรูด เช่น อาหารรสจัด เปรี้ยวจัด หรือเผ็ดจัด ได้แก่ พริกไทย น้ำส้มสายชู น้ำส้ม น้ำมะนาว น้ำมะเขือเทศ เป็นต้น
3) พฤติกรรมที่มักรับประทานอาหารมื้อใหญ่ หรือรับประทานอาหารตอนดึก
3. ภาวะอ้วน คนที่มีภาวะอ้วนจะมีความดันในช่องท้องสูงกว่าคนทั่วไป ส่งผลให้เพิ่มแรงกดดันต่อกระเพาะอาหาร จึงเสี่ยงที่จะเป็นโรคกรดไหลย้อนได้
4. การตั้งครรภ์ เนื่องจากฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นขณะตั้งครรภ์ จะทำให้หูรูดหลอดอาหารทำงานคลายตัวลง ขณะเดียวกับที่มดลูกขยายตัว ซึ่งจะเพิ่มแรงกดดันต่อกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อนได้ง่าย
5. ความเครียด มีผลทำให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดมากขึ้น ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคกระเพาะอาหาร และโรคกรดไหลย้อนได้
6. พฤติกรรมสูบบุหรี่ อาจส่งผลให้กรดในกระเพาะอาหารหลั่งออกมามากขึ้น และทาให้กระเพาะอาหารบีบตัวลดลง จึงมีโอกาสที่กรดจะไหลย้อนกลับขึ้นมาในหลอดอาหารได้ง่าย
7. พฤติกรรมส่วนตัว เช่น มักเข้านอนทันทีหลังรับประทานอาหารเย็น หรือแต่ละมื้อมักรับประทานอาหารในปริมาณมาก
8. ยาบางชนิด อาจมีผลลดการบีบตัวของกระเพาะอาหาร หรือยาบางชนิดอาจมีฤทธิ์เป็นกรด เป็นต้น
ป้องกันการเกิดโรคกรดไหลย้อน หรือ GERD ได้ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
1. หลีกเลี่ยงอาหารที่เพิ่มการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร ได้แก่ อาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน น้ำอัดลม แอลกอฮอล์ กระเทียม หัวหอม เป็นต้น รวมถึงหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อใหญ่ หรือควรแบ่งเป็นมื้อเล็กๆ แต่รับประทานบ่อยครั้ง
2. ผ่อนคลายความเครียด เช่น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกกาลังกาย เข้าหาธรรมะ
3. ควบคุมน้ำหนัก โดยเฉพาะคนที่มีภาวะอ้วน หรือมีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน เมื่อน้ำหนักลด แรงดันที่กดลงต่อกระเพาะอาหารก็จะลดลงตามไปด้วย ทำให้ความดันในพระเพาะอาหารลดลง จึงดันหูรูดส่วนปลายของหลอดอาหารน้อยลง อาการกรดไหลย้อนก็จะลดลงตามไปด้วย นอกจากนั้น การควบคุมน้ำหนักยังเป็นผลดีต่อสุขภาพ ทำให้สุขภาพแข็งแรงอีกด้วย
4. หลีกเลี่ยงนอนราบทันทีหลังรับประทานอาหาร แต่ควรรออย่างน้อย 3-4 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหารแล้วจึงเข้านอน ถ้าหากจะนอน ควรนอนหนุนหมอนสูง และไม่ควรออกกาลังกายหลังรับประทานอาหารเสร็จทันที
หากท่านพบว่า มีอาการของโรคกรดไหลย้อน หรือ GERD ควรรีบพบปรึกษาแพทย์ทันที เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย พร้อมรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป
อย่าลืม การรักษาแต่เนิ่นๆ ย่อมมีผลต่อการรักษา และไม่นำไปสู่ผลที่อาจเป็นอันตรายต่อไป..ในภายหลัง