กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เตือน! นักท่องเที่ยวที่ชอบกางกางเต็นท์นอนในพื้นที่ป่าภูเขาให้ระมัดระวังตัวไรอ่อนกัด เสี่ยงติดเชื้อ และป่วยเป็น “โรคไข้รากสาดใหญ่” ได้ หากอาการรุนแรงอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้เลยทีเดียว! ไข้รากสาดใหญ่ จะมีอาการ และวิธีรักษาป้องกันอย่างไร… มาติดตามกันได้เลย
- หวัดจากเชื้อ ไวรัส VS แบคทีเรีย แตกต่างกันยังไง? แบบไหนรุนแรงกว่ากัน!
- โรคไข้หวัด สาเหตุ อาการ วิธีรักษา และข้อควรรู้เรื่องหวัดกับ หมออ้อม
- แพทย์เตือน! เป็นหวัด เจ็บคอบ่อย สัญญาณภูมิต่ำที่ต้องระวัง
โรคไข้รากสาดใหญ่ อันตรายจากตัวไรอ่อนกัด!
ไข้รากสาดใหญ่ หรือ สครับไทฟัส เป็นโรคที่พบได้ทุกฤดูกาล แต่จะพบมากในช่วงฤดูฝนจนถึงต้นฤดูหนาว เกิดจากเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มริกเก็ตเชีย (Rickettsia) ตามธรรมชาติ โดยมีตัวไรอ่อนเป็นพาหะนำโรค (มีขนาดเล็กมาก ประมาณ 1 มิลลิเมตรเท่านั้น) มักพบอยู่ตามพุ่มไม้ ป่าละเมาะ พงหญ้าใกล้กับพื้นดินที่มีความชื้นแต่ไม่เปียกแฉะ
ตัวไรอ่อนจะกัดคน เพื่อกินน้ำเหลืองเป็นอาหาร เมื่อคนถูกกัดจะได้รับเชื้อแบคทีเรียซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไข้รากสาดใหญ่ หากมีการเกาบริเวณที่ถูกกัดจะทำให้ผิวหนังเปิด เป็นเหตุให้เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่กระแสเลือดได้มากขึ้น
ระยะฟักตัวของโรค : 6-20 วัน โดยเฉลี่ย 10 วัน
สถานการณ์โรคไข้รากสาดใหญ่ในประเทศไทย
- ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 13 พฤศจิกายน 2566 พบผู้ป่วย 6,903 ราย มีผู้เสียชีวิต 6 ราย
- กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 45-54 ปี รองลงมาคือ 55-64 ปี และ 65 ปีขึ้นไป ตามลำดับ
- อาชีพส่วนใหญ่ คือ เกษตรกร ร้อยละ 41.7 รับจ้าง ร้อยละ 21.9 ไม่ทราบอาชีพ/ในปกครอง ร้อยละ 15.4
- ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคเหนือ
บริเวณใดในร่างกายที่มักถูกตัวไรอ่อนกัด?
ไรอ่อนมักจะเข้าไปกัดบริเวณร่มผ้า เช่น
- อวัยวะสืบพันธุ์
- ขาหนีบ
- เอว
- ลำตัวบริเวณใต้ราวนม
- รักแร้
- คอ
โรคไข้รากสาดใหญ่ มีอาการอย่างไร?
หลังถูกตัวไรอ่อนที่มีเชื้อกัดประมาณ 10-12 วัน จะมีอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- ปวดศีรษะที่ขมับ และหน้าผาก
- มีไข้หนาวสั่น ไข้สูงตลอดเวลา 40-40.5 องศาเซลเซียส และอาจอยู่นาน 2-3 สัปดาห์
- หน้าแดง ตาแดง กลัวแสง
- อ่อนเพลีย
- เบื่ออาหาร
- ท้องผูก
- ไอแห้ง ๆ
- ผื่นแดงตามตัว
- ถ้าอาการรุนแรงอาจมีอาการซึม สับสน ความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลง
ตรงบริเวณที่โดนไรอ่อนกัด แรก ๆ จะเป็นตุ่มแดง อยู่ 2-3 วัน แล้วแตกเป็นแผล พอแผลแห้งก็เป็นสะเก็ดดำ ๆ คล้ายรอยถูกบุหรี่จี้ ต่อมาต่อมน้ำเหลืองแถวที่ถูกกัดจะบวมเจ็บ และจากนั้นก็จะมีไข้ ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 20 อาจมีอาการแทรกซ้อนอย่างรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
ภาวะแทรกซ้อนของโรคไข้รากสาดใหญ่
ถ้าผู้ติดเชื้อไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่พบได้ คือ
- ตับอักเสบ
- เยื่อหุ้มสมอง หรือเนื้อสมองอักเสบ
- ไตวายฉับพลัน
- ปอดอักเสบ
- ภาวะลิ่มเลือดแข็งตัวทั่วร่างกาย ภาวะเกร็ดเลือดต่ำ
วิธีรักษาโรคไข้รากสาดใหญ่
โรคไข้รากสาดใหญ่ต้อง รักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะตามแพทย์สั่งเท่านั้น ไม่สามารถรักษาด้วยยาจำพวกแก้ไข้ แก้ปวดได้ ดังนั้น หลังกลับออกจากเที่ยวป่าภายใน 2 สัปดาห์ แล้วป่วยมีไข้ขึ้นสูง มีอาการปวดศีรษะ ควรรีบพบแพทย์ และแจ้งประวัติการเข้าไปในป่าให้แพทย์ทราบ เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง และรวดเร็ว
เที่ยวป่าเดินเขาอย่างไรให้ปลอดภัยจาก “ตัวไร” ?
- นักท่องเที่ยวที่จะไปเที่ยวป่า ควรกางเต็นท์ในบริเวณค่ายพักที่โล่งเตียน
- หลีกเลี่ยงการนั่ง และนอนบนพื้นหญ้า
- ใช้สารไล่แมลงที่มีส่วนประกอบของสาร DEEF 20-30% (หรือสารที่ได้รับการรับรองว่าใช้สำหรับต่อต้านตัวไรอ่อน) หมั่นทาทุก 4-6 ชั่วโมง ทั้งแบบที่ใช้กับผิวหนัง และเสื้อผ้า
- แต่งกายให้มิดชิด ให้เด็กสวมเสื้อผ้าที่ปกปิดผิวหนังอย่างมิดชิดทั้งแขน และขา หรือคลุมรถเข็นเด็ก เตียงนอนด้วยมุ้ง
- หลังอาบน้ำ หรือเปลี่ยนเสื้อผ้า ควรสำรวจร่างกายตัวเองว่ามีผื่น แผล หรือแมลงเกาะตามตัวหรือไม่
- ควรสังเกตอาการของตนเอง หากกลับจากเที่ยวป่าภายใน 2 สัปดาห์ พบว่ามีอาการตามที่กล่าวมา ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
อ้างอิง : 1. กระทรวงสาธารณสุข 2. รพ. สินแพทย์ 3. thairath 4. รพ. บางปะกอก 5. สสส.