หน้าฝนนอกจากจะทำให้ป่วยเป็นไข้หวัดได้ง่ายแล้ว ยังนำพาโรคผิวหนังต่าง ๆ ตามมาด้วย โดยเฉพาะ “กลาก เกลื้อน” ซึ่งจัดเป็นโรคผิวหนังจากเชื้อราที่พบได้บ่อยในหน้าฝน ทั้งนี้หลายคนเข้าใจว่า กลาก กับ เกลื้อน เป็นโรคเดียวกัน แต่ความจริงแล้วไม่ใช่โรคเดียวกัน… 2 โรคนี้จะแตกต่างกันยังไง มีสาเหตุ อาการ วิธีรักษาอย่างไร บทความนี้มีคำตอบ มาติดตามกันเลย!
- เชื้อราแมว สามารถติดต่อสู่คน ทำป่วยโรคผิวหนังได้
- แพทย์เตือน! เชื้อราหน้าฝน ทำป่วยภูมิแพ้และโรคผิวหนังได้ พร้อมแนะวิธีกำจัดเชื้อรา
- 7 โรคผิวหนัง ต้องระวัง! ในฤดูฝน พร้อมวิธีป้องกันจากแพทย์ผิวหนัง
รู้จักกับ กลาก เกลื้อน โรคผิวหนังยอดฮิตในหน้าฝน
กลาก เกลื้อน คือโรคผื่นผิวหนังอักเสบที่เกิดจากเชื้อราเหมือนกัน แต่เป็นเชื้อราต่างชนิดกัน ส่วนความแตกต่างกัน คือ ลักษณะรอยโรคและตำแหน่งที่เป็น ทั้ง 2 โรคนี้สามารถพบได้บ่อยได้ฤดูฝน รวมถึงฤดูร้อน เพราะ ทำให้เหงื่อออกมาก โดยเฉพาะโรคเกลื้อนมักพบบ่อยในฤดูร้อน
กลาก (Ring worm / Dermatophytosis)
• สาเหตุ
กลากเกิดจากการติดเชื้อรากลุ่มเดอร์มาโตไฟต์ Dermatophyte (เช่นเดียวกันกับโรคน้ำกัดเท้า) มีแหล่งที่มาจากดิน สัตว์เลี้ยง หรือจากมนุษย์ด้วยกัน เชื้อราเหล่านี้จะเจริญอยู่ในชั้นหนังกำพร้าของผิวหนัง เส้นผม และเล็บ สามารถเกิดได้ง่ายหากร่างกายเปียกเป็นเวลานาน เช่น เล่นน้ำสงกรานต์ ตากฝน หรือลุยน้ำเป็นเวลานาน
• การติดต่อ
สามารถติดจากการใช้ของร่วมกับคนที่เป็นโรคกลาก หรือติดจากสัตว์เลี้ยง เช่น หมา แมว ก็ได้
• ตำแหน่งเกิดโรค
กลากเกิดทั้งในบริเวณผิวหนังทั่วไป หรือส่วนที่มีความอับชื้น ได้แก่ ที่ซอกขาหนีบ รักแร้ ใต้ราวนม ก้น และโคนขา อย่างไรก็ตาม โรคกลากสามารถเกิดขึ้นทุกส่วนที่เป็นส่วนประกอบของผิวหนังภายนอก รวมถึงผม ขน และเล็บสามารถเป็นกับผิวหนังได้ทั่วร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณอับชื้นเช่นขาหนีบ ก้น
• ลักษณะและอาการ
กลากมีลักษณะเป็นผื่นวงแหวนสีแดง เป็นวงเดี่ยว ๆ เห็นขอบของผื่นชัดเจน ขอบอาจยกนูนสูงจากผิวเล็กน้อยและมีขุย ตรงกลางของวงไม่แดงเท่าขอบ เริ่มต้นด้วยอาการคัน ตามด้วยผื่นแดง ต่อมาจะลามเป็นวงออกไปเรื่อย ๆ และมักจะคันมากขึ้น ส่วนใหญ่พบในบริเวณที่มีความอับชื้น เช่น หนังศีรษะ รักแร้ ใต้ราวนม ขาหนีบ ฝ่าเท้า และซอกนิ้วเท้า
- โรคกลากที่ศีรษะ (Tinea capitis) : มีผมร่วงเป็นหย่อม ๆ เส้นผมเปราะ หักง่าย ผื่นมีขอบเขตชัดเจน พบขุยสีขาวอมเทา
- โรคกลากที่ใบหน้า (Tinea faciei) : ผื่นจะเป็นวง ขอบยกสีแดง บางครั้งพบขุยสีขาวบริเวณกลางวงของผื่น
- โรคกลากที่มือ (Tinea manuum) : มักจะเกิดบริเวณมือข้างใดข้างหนึ่ง พบผื่นมาก ถ้าเป็นมาก ผิวหนังอาจแฉะ แดง เป็นแผลได้
- โรคกลากที่เท้า (Tinea pedis หรือ Athlete’s foot) : ลักษณะผื่นไม่ชัดเจน มีกลิ่นแรง ผิวแห้งมาก มีรอยแตกตามส้นเท้า
- โรคกลากที่เล็บมือ-เล็บเท้า (Tinea unguium) : ผิวเล็บไม่เรียบ เล็บแตกหักง่าย สีเล็บผิดปกติ และเล็บดูผิดรูปร่าง
ส่วนกลากที่เกิดจากสัตว์เลี้ยง มักเป็นตำแหน่งนอกร่มผ้า และมีอาการรุนแรงกว่า ทำให้คันผิวหนังมาก อาจต้องใช้ทั้งยาทา และยากินเพื่อรักษา
เกลื้อน (Tinea versicolor / Pityriasis versicolor)
• สาเหตุ
เกลื้อนเป็นโรคเชื้อราของผิวหนังชั้นตื้น เกิดจากเชื้อรา Malassezia furfur ที่อาศัยอยู่เป็นปกติในรูขุมขนของทุกคน เชื้อราชนิดนี้กินไขมันที่มีอยู่ในรูขนเป็นอาหาร ถ้าผู้ป่วยมีความต้านทานลดลง เหงื่อไคลหมักหมม เชื้อราชนิดนี้จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วก่อให้เกิดโรคที่ผิวหนังเป็นดวงขาว และมีขุย
• การติดต่อ
เกลื้อนไม่ใช่โรคติดต่อ เพราะปกติคนเราจะมีเชื้อราชนิดนี้อยู่บนผิวหนังอยู่แล้ว การสัมผัสผู้ป่วยที่เป็นโรคเกลื้อนจึงไม่ทำให้เกิดการติดต่อกัน ต่างกับโรคกลากที่สามารถติดต่อสู่กันได้
• ตำแหน่งเกิดโรค
เกลื้อนเกิดขึ้นที่หนังกำพร้าส่วนบนเท่านั้น พบได้บ่อยในบริเวณผิวหนังที่มีต่อมไขมันมาก เช่น ใบหน้า ต้นคอ หน้าอก และหลัง เป็นต้น หากเคยเป็นเกลื้อนแล้ว สามารถกลับไปเป็นอีกครั้งได้ง่ายแม้รักษาหายแล้วก็ตาม ผู้ป่วยโรคนี้จึงควรเรียนรู้การวิธีการรักษาเกลื้อน และวิธีป้องกันการติดเชื้อราเพื่อไม่ให้กลับมาเป็นเกลื้อนซ้ำอีก
• ลักษณะและอาการ
เกลื้อนมีลักษณะเป็นดวง เรียบแบน สีขาว น้ำตาล หรือแดง ขอบเขตชัดเจน เริ่มต้นมักเป็นวงเล็ก ๆ สีจางกว่าผิวหนังโดยรอบ แล้วค่อย ๆ ขยายโตขึ้นเรื่อย ๆ ต่อกันจนดูเป็นปื้น ๆ มักจะไม่มีอาการคัน
- ในคนผิวคล้ำ เกลื้อนอาจมีสีน้ำตาลเข้ม หรือสีซีดกว่าผิวหนังโดยรอบ
- ในคนผิวขาว เกลื้อนอาจมีสีแดง หรืออมชมพู พื้นแบนเรียบ
- ในคนไทยมักพบเป็นแบบมีสีซีดจาง โดยรอยโรคจะมีเศษขุยละเอียด หรือสะเก็ดของผิวหนังที่แห้งซึ่งสามารถขูดออกมาได้
เมื่อเป็นกลาก เกลื้อน ควรทำอย่างไร?
ผู้ป่วย 2 โรคนี้ ควรเข้ารับการรักษาโดยแพทย์ เพื่อพิสูจน์ให้แน่ชัดว่าเรากำลังป่วยด้วยเชื้ออะไรอยู่ แพทย์จะทำการสอบถามประวัติการเกิดโรค ช่วยตรวจลักษณะอาการ หรืออาจต้องมีการขูดเอาผิวหนังที่สงสัยว่าติดเชื้อราไปส่อง หรือเพาะพิสูจน์อีกด้วย
ส่วนยารักษามีทั้งยาทา และยากิน ถ้าใช้อย่างถูกต้อง หรือใช้ตามคำแนะนำจากแพทย์ อาการของโรค หรือ ผื่น จะหายไปใน 4 สัปดาห์ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับบริเวณและสาเหตุที่เป็นด้วยเช่นกัน ถ้าเป็นไม่มากใช้แค่ยาทาก็หาย แต่ถ้าอาการรุนแรงอาจต้องใช้ยากินร่วมด้วย จึงจะหายขาด
ฉะนั้น หากยังไม่รู้แน่ชัดว่าเราเป็นกลากหรือเกลื้อน ควรเข้าพบแพทย์เป็นการดีที่สุด หรืออย่างน้อยปรึกษาเภสัชกรที่ร้านยาใกล้บ้าน เพื่อรับยารักษาอย่างถูกต้อง
กลุ่มเสี่ยงเป็น กลาก เกลื้อน ได้บ่อย
- ผู้ที่มีเหงื่อออกง่าย เหงื่อออกมาก เช่นนักกีฬา หรือผู้ที่มีเหงื่อออกบริเวณเท้ามาก
- ผู้ที่ปฏิบัติงานในสถานที่อบ ร้อน กลางแจ้ง แล้วมีเหงื่อออกมาก มีโอกาสเกิดโรคนี้ได้ง่าย
- คนที่มีภูมิต้านทานของร่างกายต่ำ เช่น คนขาดอาหาร ดื่มสุรา อดนอน และมีโรคประจำตัว
- ผู้ที่ใส่เสื้อผ้าที่รัด อบอ้าว และหนาเกินไปไม่เหมาะกับสภาวะอากาศที่ร้อน
- ช่วงวัยรุ่นจะพบได้บ่อย เพราะเป็นวัยที่ต่อมไขมันทำงานมาก และมีฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลงบ่อย
การป้องกันไม่ให้เกิดกลาก เกลื้อน เริ่มต้นที่รักษาความสะอาดร่างกายให้ดี
- ควรอาบน้ำ ชำระร่างกายให้สะอาดอยู่เสมอ อย่าปล่อยให้เหงื่อไคลหมักหมม
- เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ควรจะซักและนำออกผึ่งแดดให้แห้งก่อนนำมาใช้อีกครั้ง
- รักษาความสะอาดสัตว์เลี้ยง ไม่ให้เป็นกลาก เพราะอาจติดต่อถึงเราได้
- ล้างมือให้สะอาด หลังไปขุดดิน หรือสัมผัสกับสัตว์เลี้ยงมา
- ไม่คลุกคลี หรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว
- ตัดเล็บมือ เล็บเท้า ให้สั้นอยู่เสมอ
- หลีกเลี่ยงเสื้อผ้าหนา ๆ หรืออบมากเกินไป
GED god life สรุปให้ กลากเกลื้อนต่างกันยังไง
- กลาก เกลื้อน ไม่ใช่โรคเดียวกัน แต่เป็นโรคผื่นผิวหนังอักเสบที่เกิดจากเชื้อราเหมือนกัน
- กลากเกิดจากเชื้อรากลุ่ม Dermatophyte ส่วนเกลื้อนเกิดจากเชื้อรา Malassezia furfur
- โรคกลาก มักพบได้ทุกส่วนตามร่างกาย โรคเกลื้อน มักขึ้นบริเวณใบหน้า หน้าอก หลัง
- โรคกลาก มีลักษณะเป็นวงแหวนสีแดง และเป็นวงเดี่ยว ๆ แต่โรคเกลื้อนจะเป็นปื้น ๆ มีสีซีดหรือเข้มกว่าผิวหนังปกติ
- โรคกลากสามารถติดต่อจากสัตว์สู่คน หรือคนสู่คนได้ แต่เกลื้อนไม่ใช่โรคติดต่อ จึงแพร่ต่อกันไม่ได้
อ้างอิง : 1. รพ.ศิริราช1/2 2. ม.หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ 3. สมาคมปรสิตวิทยาและอายุรศาสตร์ เขตร้อนแห่งประเทศไทย