กรมควบคุมโรคแจ้งเตือนประชาชนให้ดูแลสุขภาพอนามัย และป้องกันโรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้บ่อยในฤดูฝน เนื่องจากฤดูฝนทำให้เกิดฝนตกหนัก เกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลันได้ หากไม่ดูแลสุขอนามัยให้ดีก็อาจทำให้เกิดเจ็บป่วยได้ง่าย มาดูกันว่า “4 กลุ่มโรคติดต่อในฤดูฝน” ที่ต้องระวัง มีอะไรบ้าง?
- 14 โรคติดต่ออันตราย! ภายใต้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558
- รวมโรคติดต่อยอดฮิตในออฟฟิศ ป้องกันสักนิด ก่อนป่วยยกแก๊งค์
- ระวัง! 5 ไวรัสหน้าฝน ทำติดเชื้อทางเดินหายใจ ก่อโรคหวัด ไข้ขึ้นสูง!
กรมควบคุมโรคเตือน! 4 กลุ่มโรคติดต่อในฤดูฝน ที่ต้องระวัง
กลุ่มที่ 1 โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ
เกิดจากการติดเชื้อโรคของระบบทางเดินหายใจ เริ่มตั้งแต่จมูก คอ หลอดลม ไปจนถึงปอด โรคทางเดินหายใจส่วนใหญ่แล้วมักเกิดจากเชื้อไวรัส แต่บางโรคก็อาจเกิดได้จากแบคทีเรีย ซึ่งจะมีอันตรายกว่าโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส
โรคติดต่อทางเดินหายใจที่ควรระวังในหน้าฝน ได้แก่
- โรคไข้หวัดทั่วไป (Common cold หรือ Acute rhinitis)
- โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus)
- โรคปอดบวม หรือ ปอดอักเสบ (Pneumonia)
- คออักเสบ หรือ โรคติดเชื้อในคอ (pharyngitis)
- โรคหลอดลมอักเสบ (bronchitis)
การติดต่อ – สามารถติดต่อกันได้ง่ายจากการไอ จาม หรือมือที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะ
การป้องกัน – สวมใส่หน้ากากอนามัยป้องกันเชื้อไวรัส และควรล้างมือให้สะอาดบ่อย ๆ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียดกับการใช้ชีวิตจนเกินไป เพราะจะทำให้ภูมิคุ้มกันตก และเป็นโรคได้ง่าย
กลุ่มที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ – ผู้สูงอายุผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ และเด็กเล็กอายุต่ํากว่า 5 ปี เนื่องจากหากป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคปอดบวมจะเป็นอันตรายมากถึงเสียชีวิตได้ ดังนั้นพ่อแม่ หรือผู้ดูแลเด็กควรสังเกตอาการ หากมีไข้สูง ไอ หายใจเร็ว หรือ หอบเหนื่อย ให้รีบพาไปพบแพทย์เพื่อให้การรักษาได้อย่างทันท่วงที
กลุ่มที่ 2 โรคติดต่อที่มียุงเป็นพาหะนำโรค
หน้าฝนต้องระวัง “ยุง” ให้ดี! เพราะเป็นฤดูที่มียุงชุมมากกว่าฤดูอื่น ๆ และยุงคือแมลงจิ๋วที่ร้ายสุดในโลก เพราะพรากชีวิตมนุษย์นับล้านต่อปี หากอยู่ในพื้นที่มียุงระบาด และมีอาการไข้สูง 3-4 วัน พึงสงสัยว่าอาการดังกล่าวอาจเกิดจากยุงได้ รวมถึงหากกลับจากท่องเที่ยวป่า และมีไข้สูง หนาวสั่น ควรรีบพบแพทย์
โรคติดต่อที่มียุงเป็นพาหะนำโรค ได้แก่
- โรคไข้เลือดออก (Dengue)
- โรคไข้สมองอักเสบ (Japanese B Encephalitis, JE)
- โรคมาลาเรีย (Malaria)
- โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือ โรคชิคุนกุนยา (Chikungunya)
- โรคติดเชื้อไวรัสซิกา (Zika virus)
การติดต่อ – ติดต่อจากยุงชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะ ยุงลาย ที่เป็นต้นเหตุของโรคไข้เลือดออก ซึ่งเป็นโรคที่เป็นภัยคุกคามมากที่สุดสำหรับคนไทย
การป้องกัน – ป้องกันโดยไม่ให้ยุงกัด เช่น กางมุ้งนอน ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง แหล่งน้ำขัง เป็นต้น
กลุ่มที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ – เด็กเล็กที่ยังมีภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้สูงวัยโดยเฉพาะผู้ป่วยที่นอนติดเตียง และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว หากป่วยด้วยโรคที่เกิดจากยุงซ้ำ อาการก็จะทวีความรุนแรงมากขึ้น
กลุ่มที่ 3 โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ
แน่นอนว่าหน้าฝนมักนำพาเชื้อโรคต่าง ๆ มาสู่คน น้ำ และอาหารได้ด้วย จึงไม่แปลกที่ช่วงฝนตกหนักต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงน้ำท่วมก็อาจก่อให้เกิดโรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำได้ง่าย ส่วนใครที่อยู่ตามป่าเขา มีสวน หรือไร่ แนะนำให้เลี่ยงการกินเห็ดโดยไม่รู้จัก เพราะ กรมควบคุมโรคได้เผยสถิติว่า คนไทยป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษเนื่องจากเห็ดพิษเป็นจำนวนมาก
โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ ได้แก่
- โรคอุจจาระร่วง หรือ ท้องเสีย (Diarrhea)
- อาหารเป็นพิษ (Food poisoning)
- อหิวาตกโรค (Cholera)
- โรคไวรัสตับอักเสบเอ (Hepatitis A)
การติดต่อ – รับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ การใช้น้ำคลองไม่สะอาด หรือน้ำไม่ผ่านการบําบัด ซึ่งอาจมีเชื้อโรคปะปนมากับสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ เช่น อุจจาระ ปัสสาวะของคนหรือสัตว์
การป้องกัน – ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” กล่าวคือ กินอาหารปรุงสุกใหม่ ๆ ไม่มีแมลงวันตอม ล้างมือด้วยน้ำ และสบู่บ่อย ๆ ทั้งก่อนรับประทานอาหาร และไม่กินหรือใช้น้ำแข็งที่ไม่สะอาด ไม่ถูกหลักอนามัย เพราะในน้ำแข็งมักมีเชื้อโรคปนเปื้อนได้ง่าย แต่หากมีอาการท้องเสีย ควรจิบเกลือแร่แก้ท้องเสีย “ORS” บ่อย ๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ
กลุ่มที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ – ทุกช่วงวัย และผู้ที่มีปัญหาทางด้านระบบทางเดินอาหารเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
กลุ่มที่ 4 โรคติดต่ออื่น ๆ จากการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย
ไม่ว่าจะฤดูไหน การสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยย่อมทำให้เราป่วยตามได้ง่าย แต่ในฤดูฝนเป็นฤดูที่เชื้อโรคแพร่ระบาดได้ง่ายกว่าฤดูอื่น ๆ รวมถึงโรคโควิด-19 เช่นกัน จึงต้องระวังตัวเองเป็นพิเศษ
โรคติดต่ออื่น ๆ ได้แก่
- โรคมือ เท้า ปาก (hand foot mouth disease)
- โรคตาแดง (pink eye หรือ conjunctivitis)
- โรคฉี่หนู หรือ โรคแลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis)
การติดต่อ – ติดต่อจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย
การป้องกัน – ไม่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย และไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน หากต้องใกล้ชิดแนะนำให้สวมใส่หน้ากากอนามัย และทำความสะอาดมือ อาบน้ำ ให้สะอาดเสมอ
อ้างอิง : 1. กรมควบคุมโรค 2. กองควบคุมโรคติดต่อ สํานักอนามัย