กลิ่นปาก นอกจากจะเหม็น จนอาจทำให้คู่สนทนาของคุณเบือนหน้าหนีแล้ว ยังทำให้เสียบุคลิกภาพ และทำให้ขาดความมั่นใจได้อีกด้วย บางคนอาจถึงขั้นตกอยู่ในความเครียดได้เลยทีเดียว เพราะบางครั้ง ปัญหาที่ดูเหมือนจะเล็ก ๆ อย่างนี้ ก็อาจส่งผลกระทบถึงหน้าที่การงาน และความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับคนใกล้ตัวได้เช่นกัน!
“ทดสอบกลิ่นปาก” ปากเหม็นหรือไม่ รู้ไว้ก่อนไปคุยกับคนอื่น
- หายใจเข้าเต็มปอด ใช้มือป้องปาก และจมูกเอาไว้ แล้วพ่นลมหายใจออกจากปาก สูดลมหายใจเข้าทางจมูก เพื่อดมกลิ่นดูว่ามีกลิ่นเหม็นหรือไม่
- เลียข้อมือแล้วดม หรือจะใช้นิ้วถูเหงือกแล้วนำมาดมทดสอบกลิ่นก็ได้
- บ้วนน้ำลายออกมาแล้วลองดมกลิ่น โดยปกติแล้ว น้ำลายจะไม่มีกลิ่น ถ้าน้ำลายมีกลิ่น แสดงว่ามีการปนเปื้อนของเชื้อโรค และเป็นไปได้ว่า น้ำลายนั้นผ่านนิ่วที่ต่อมทอนซิล ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของกลิ่นปาก ออกมา
- ขอร้องให้คนใกล้ชิดช่วยบอกว่ามีกลิ่นปากหรือไม่
กลิ่นปาก มาจากไหน?
กลิ่นปาก สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยแบ่งออกเป็นสาเหตุใหญ่ๆ ได้เป็น สาเหตุที่เกิดขึ้นภายในช่องปาก และสาเหตุที่เกิดขึ้นนอกช่องปาก
- สาเหตุจาก ภายในช่องปาก
กลิ่นปาก คือสัญญาณหนึ่งที่บ่งบอกว่า มีความผิดปกติเกิดขึ้นภายในช่องปากของคุณ โดยสาเหตุที่ทำให้มีกลิ่นปากคือ มีแผลในช่องปาก ฟันผุ เป็นโรคเหงือกอักเสบ หรือมีอาการภูมิแพ้ นอกจากนี้ ผู้ที่ต้องใส่เครื่องมือต่างๆ ภายในปาก เช่น เครื่องมือจัดฟัน หรือฟันปลอม หากดูแลรักษาความสะอาดได้ไม่ดี ก็สามารถทำให้เกิดกลิ่นปากได้เช่นกัน
- สาเหตุจาก ภายนอกช่องปาก
สาเหตุจากภายนอกช่องปาก เป็นสาเหตุที่เกิดจากพฤติกรรมในการใช้ชีวิต เช่น การสูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ การรับประทานอาหารบางชนิดที่มีกลิ่นแรง ก็ทำให้เกิดกลิ่นปากได้ นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายโรคที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดกลิ่นปากได้เช่นกัน เช่น โรคไซนัสอักเสบ โรคทอนซิลอักเสบ โรคมะเร็งโพรงกระดูก กรดไหลย้อน โรคปอดเรื้อรัง วัณโรคปอด หรือมะเร็งปอด แม้แต่โรคที่เกิดขึ้นในระบบขับถ่าย ที่ทำให้การขับถ่ายผิดปกติ ก็สามารถสร้างกลิ่นปากได้ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ที่มีการควบคุมน้ำตาลที่ไม่ดี ก็จะมีกลิ่นปากเช่นกัน
วิธีดับกลิ่นปาก
การดับกลิ่นปาก สามารถทำได้หลายวิธี มีทั้งการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ และแบบชั่วคราวยามฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็น
- รักษาสุขภาพฟัน และช่องปาก ให้สะอาดเสมอ การแปรงฟันทุกครั้งหลังมื้ออาหาร เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยลดกลิ่นปากได้
- ใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ เพื่อช่วยขจัดเศษอาหาร และกำจัดเชื้อโรค
- ยาสีฟันผสมเกลือ หรือเกลือเพียงอย่างเดียว สามารถนำมาแปรงฟันได้ เพราะเกลือช่วยระงับกลิ่นปากได้ การใช้น้ำเกลือกลั้วคอ หรืออมน้ำเกลือหลังแปรงฟันเสร็จ ก็ช่วยได้เช่นกัน
- ใช้ไหมขัดฟันหลังแปรงฟัน เพื่อกำจัดเศษอาหารที่ติดตามซอกฟัน อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
- ทำความสะอาดลิ้นทุกวัน ผิวลิ้นที่ขรุขระ จะเป็นที่กักเก็บเศษอาหารต่างๆ ทำให้มีแบคทีเรียที่มีผลต่อกลิ่นปากสะสมอยู่ตามโคนลิ้น ใช้แปรงสีฟันแปรงลิ้น โดยแปรงให้ลึกถึงโคนลิ้น หรือใช้ไม้ขูดลิ้นขูดฝ้าบนลิ้นออก
- ขูดหินปูนเป็นประจำทุก 6 เดือน หรืออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หินปูน เป็นอีกสาเหตุหลักของการเกิดกลิ่นปากที่ไม่ควรมองข้าม
- เคี้ยวหมากฝรั่ง หรืออมลูกอมเพื่อดับกลิ่นปาก รวมถึงสเปรย์ระงับกลิ่นปาก สามารถช่วยดับกลิ่นปากได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น
- รักษาแผลในช่องปาก หากมีแผลในช่องปาก ควรแปรงฟันทันทีหลังกินอาหารเสร็จ ถ้าแปรงฟันหรืออ้าปากไม่ได้ ให้บ้วนปากด้วยน้ำเกลืออุ่น ทุกครั้งหลังการรับประทาน และใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่นพันนิ้วเช็ดฟัน
- เลิกสูบบุหรี่ กลิ่นของบุหรี่ที่ตกค้างอยู่ในช่องปาก เมื่อผสมกับกลิ่นอื่นๆ สามารถทำให้เกิดกลิ่นเหม็นเฉพาะได้
- หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ หรือเครื่องดื่มอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดกลิ่นปาก
- ดื่มน้ำเยอะ ๆ (ข้อนี้สำคัญและทำได้ง่ายมาก) อย่าปล่อยให้ปากแห้ง เพราะจะทำให้ความเข้มข้นของแบคทีเรียในช่องปากมีเพิ่มมากขึ้น จนทำให้เกิดกลิ่นปากได้ น้ำลายสามารถช่วยชะล้างสิ่งสกปรกที่เป็นสาเหตุของกลิ่นปากออกไปได้
- ดื่มน้ำมะนาว เพราะน้ำมะนาวจะช่วยเพิ่มปริมาณของน้ำลายได้ กรดซิตริกในมะนาว มีคุณสมบัติคล้ายกับกรดในน้ำลาย ที่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียในช่องปากได้ การนำเปลือกมะนาวหรือเปลือกส้ม ที่คั้นน้ำแล้วมาเคี้ยวก็ได้ผลเช่นกัน แต่หลังจากเคี้ยวแล้วต้องบ้วนปากด้วยน้ำสะอาดทุกครั้ง เนื่องจาก กรดชนิดนี้ หากทิ้งไว้ในปากนานๆ ก็สามารถกัดกร่อนเนื้อฟันได้
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีกลิ่นแรง หากสาเหตุในการเกิดกลิ่นปากของคุณมาจากอาหาร ก็ควรระมัดระวังเรื่องการรับประทานอาหารมากขึ้น และเลี่ยงอาหารที่มีกลิ่นแรง
ขอขอบคุณภาพInfographic เรื่องกลิ่นปาก จาก สสส.
“Expert ดีดี” โควิด-19 ไอ หวัด ปวดท้อง ภูมิแพ้ อย่าปล่อยให้เรื้อรัง ปรึกษาฟรี คลิกเลย!
ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี