อาการไอ นอกจากจะเป็นอาการที่บ่งบอกว่าร่างกายผิดปกติแล้ว บางครั้งอาการไอยังอาจรบกวนทั้งตัวเราเอง และคนรอบข้างทำไมเราถึงไอไม่หยุด ทำอย่างไรอาการไอก็ไม่หายสักที ลองมาค้นหา สาเหตุของอาการไอ กันเลย!
อาการไอ คืออะไร?
อาการไอ (Cough) เกิดจากการที่มีสิ่งกระตุ้น หรือสารระคายเคืองบริเวณ ทางเดินหายใจส่วนบน และล่าง ทำให้มีการส่งสัญญาณไปที่บริเวณสมองส่วนควบคุมการไอ และส่งสัญญาณมาที่กล้ามเนื้อหน้าท้อง กล้ามเนื้อกระบังลม เกิดการตีบแคบของหลอดลม จึงเกิดอาการไอขึ้น ซึ่งเป็นการตอบสนองของร่างกาย เพื่อกำจัดเชื้อโรค เสมหะ และสิ่งแปลกปลอมในระบบทางเดินหายใจ
อาการไอ แบ่งตามระยะเวลา ได้ดังนี้
- อาการไอเฉียบพลัน คือ มีระยะเวลาของอาการไอน้อยกว่า 3 สัปดาห์
- อาการไอเรื้อรัง คือ มีระยะเวลาของอาการไอมากกว่า 3 – 8 สัปดาห์
สาเหตุของอาการไอ สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายโรค หลายปัจจัย เช่น
- อาการไอจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น หวัด ปอดบวม จากหลอดลมอักเสบเรื้อรัง หืด หลอดลม และถุงลมพอง
- เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในหลอดลม
- เพราะสัมผัสกับสารระคายเคือง หรือ สารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ ควันบุหรี่ ควันไฟ กลิ่นสเปรย์ ฯลฯ
- จากโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง
- จากการรับประทานยารักษา ความดันโลหิตสูง บางชนิดเป็นระยะเวลานาน
- โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง โพรงจมูกอักเสบ
- อาการไอจากการอักเสบติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น โรคกรดไหลย้อน
- จากสายเสียงอักเสบเรื้อรัง
การรักษาอาการไอที่สำคัญที่สุด คือ การหาสาเหตุของอาการไอ และรักษาที่ต้นเหตุที่ทำให้เกิดอาการไอ แต่บางครั้งหากอาการไอรบกวนกับการดำเนินชีวิตประจำวัน ก็จำเป็นต้องใช้ยาแก้ไอ หรือยาบรรเทาอาการไอเพื่อให้อาการไอทุเลาลง ในระหว่างที่หาสาเหตุของอาการไอ
ยาบรรเทาอาการไอ
ยาแก้ไอสำหรับอาการไอแบบแห้ง หรือยาแก้ไอที่กดอาการไอ สำหรับคนที่มีอาการไอแห้ง หรือไอแรง ๆ ยาแก้ไอแบบนี้จะทำให้หยุดไอ เพราะเป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ทำให้กลไกตอบสนองของร่างกายต่ออาการไอเกิดขึ้นน้อยลง และช่วยบรรเทาอาการไอ
ยากลุ่มนี้มักใช้สำหรับบรรเทาอาการไอที่เกิดจากการแพ้ หรืออาการไอที่ไม่มีเสมหะ เแต่หากร่างกายมีเสมหะอยู่ก็จะทำให้เสมหะไม่ถูกขับออกจากร่างกาย ซึ่งอาจเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคได้
ยาแก้ไอสำหรับไอแบบมีเสมหะ มีด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ
1. ยาขับเสมหะ – จะกระตุ้นให้เกิดอาการไอมากขึ้นเพื่อให้ไอเอาเสมหะออกมา
2. ยาละลายเสมหะ – จะไปทำให้โมเลกุลเสมหะมีน้ำมากขึ้น หรือทำให้เสมหะมีขนาดเล็กลง เพื่อให้ร่างกายกำจัดออกไปได้ง่ายขึ้น
*สำหรับปัจจุบันแพทย์ หรือเภสัชกรมักจะแนะนำเป็นยาละลายเสมหะ
ยาละลายเสมหะที่เราเห็นทั่วไป มีอยู่ 4 ชนิด
- ยาละลายเสมหะ บรอมเฮกซีน (Bromhexine) เป็นตัวแรก ๆ ที่มีกลไก ทำให้เสมหะมีน้ำมากขึ้น เสมหะใสขึ้น ข้อเสียคือออกฤทธิ์ช้า
- ยาละลายเสมหะ แอมบรอกซอล (Ambroxol) กลไกเหมือนบรอมเฮกซีน ออกฤทธิ์เร็ว แต่ราคาค่อนข้างสูง
- ยาละลายเสมหะ คาร์โบซิสเทอีน (Carbocysteine) กลไกการทำงานจะเยอะกว่า นอกจากเพิ่มน้ำในเสมหะ มีกลไกบางอย่างทำให้เสมหะมีขนาดเล็กลง หรืออาจจะแค่กลืนลงกระเพาะอาหารก็ได้ ซึ่งปลอดภัย ราคาไม่สูง มีทั้งแบบเม็ด และแบบน้ำ
- อะเซทิลซิสเทอีน (Acetylcysteine) จะมีกลไกเหมือนกับคาร์โบซิสเทอีนแต่จะมาในรูปแบบชงหรือเม็ดฟู่ ซึ่งยุ่งยากในการกิน และยังต้องระวังในคนเป็นโรคหอบหืด เพราะอาจไปกระตุ้นหอบหืดได้
การรักษา และดูแลร่างกายเมื่อมีอาการไอ
- หาสาเหตุของอาการไอ และแก้ไขที่ต้นเหตุอาการไอให้ถูกต้อง
- พักผ่อนให้เพียงพอเมื่อมีอาการไอ ไม่เครียด เพราะความเครียดก็เป็นสาเหตุให้อาการไอหายได้ช้า
- ปรับอุณหภูมิห้องให้เหมาะสม ไม่ต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส และไม่ควรให้พัดลม หรือลมจากเครื่องปรับอากาศโดนตัวมากเกินไป
- ไม่ปล่อยให้ร่างกายเย็นเกินไป ควรห่มผ้า หรือใส่ถุงเท้าตอนนอน
- ดื่มน้ำเปล่าเยอะ ๆ เพื่อช่วยละลายเสมหะ และขับออกมาได้ง่ายขึ้น
- ดื่มน้ำอุ่น ไม่ดื่มน้ำเย็นเมื่อมีอาการไอ
- หลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่ทำให้แพ้ หรือมีอาการไอ เช่น ที่ที่มีฝุ่นละออง ควัน มลพิษ
- เมื่อมีอาการไอไม่กิน อาหารทอด อาหารมัน หรืออาหารที่กระตุ้นให้เกิดอาการไอมากขึ้น
- หากมีอาการไอต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อวินิจฉัย และรักษาอย่างเหมาะสม
เมื่อรู้ สาเหตุของอาการไอ และวิธีแก้ไขกันไปแล้ว ก็อย่าลืมนำไปปฎิบัติตามเพื่อจะได้หายจากอาการไอไวไว และอย่าลืมดูและสุขภาพด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ และสวมใส่หน้ากากอนามัยเป็นประจำ เมื่อต้องออกไปในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด จะได้ลดโอกาสรับเชื้อโรคเข้าร่างกายนั่นเอง