หลายครั้งที่เป็นไข้ อาหารรสเลิศ หรือของหวานสุดโปรวางตรงหน้า ก็กลับกินไม่ลงสะงั้น ต่อให้อร่อยแค่ไหนกลับรู้สึกว่าต้องฝืนกินเข้าไป หรืออาจเหม็นคาวอาหารทั้งที่ไม่เคยเป็นมาก่อน อาการ เบื่ออาหาร จากไข้หวัดนี้ จึงนับได้ว่า เป็นปัญหาต่อสุขภาพที่ไม่อาจมองข้ามไปได้
ทำไมจึง เบื่ออาหาร?
ภาวะ เบื่ออาหาร (Loss of Appetite) คือ อาการไม่รู้สึกอยากกินอาหาร ความต้องการอาหารลดลง ไม่อยากกินหรือปฏิเสธอาหารที่เคยชอบ รวมถึงอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น น้ำหนักลด หรือขาดสารอาหาร เกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
• ปัญหาสุขภาพกาย มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย และไวรัส ผู้ป่วยจะมีอาการไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ร่วมด้วย เช่น ไอ มีไข้ อ่อนเพลีย หรือจาม เมื่อรักษาตัวจนหายเป็นปกติ ก็จะกลับมารู้สึกอยากอาหาร และกินได้ตามเดิม โรคอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดอาการเบื่ออาหาร เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งรังไข่ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับอ่อน สมองเสื่อม ตับวายเรื้อรัง ไตวายเรื้อรัง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เชื้อเอชไอวี ร่วมถึงการตั้งครรภ์ในช่วงแรกด้วย
• ปัญหาสุขภาพจิต ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า เสียใจมาก ๆ เบื่อหน่าย เครียด หรือกังวล มีแนวโน้มที่จะรู้สึกอยากอาหารน้อยลง และมักมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อ่อนเพลีย และไม่มีแรงจูงใจทำสิ่งต่าง ๆ การเบื่ออาหารจากปัญหาสุขภาพจิต ยังนับรวมถึงผู้ที่ประสบภาวะการกินผิดปกติ (Eating Disorders) ด้วย เช่น ผู้ป่วยอะนอเร็กเซีย (Anorexia Nervosa) ที่อดอาหาร หรือทำทุกวิธีเพื่อลดน้ำหนักให้น้อยลง จนทำให้เกิดภาวะทุพโภชนาการ
• การใช้ยา ยารักษาโรคบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงที่ทำให้ผู้ที่ใช้ยาอยากอาหารน้อยลงได้ ได้แก่ ยาปฏิชีวนะ เคมีบำบัดสำหรับรักษามะเร็ง ยาโคเดอีน (Codeine) และมอร์ฟีน การใช้สารเสพติดก็ส่งผลให้เกิดอาการเบื่ออาหารได้ เช่นกัน
เบื่ออาหารรักษาอย่างไร?
ผู้ที่มีอาการเบื่ออาหาร ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและวินิจฉัยหาสาเหตุก่อนรับการรักษา โดยก่อนทำการรักษา แพทย์จะชั่งน้ำหนักวัดส่วนสูงของผู้ป่วย เพื่อนำไปเทียบกับค่าเฉลี่ยน้ำหนักตัว ซักประวัติการรักษา ประวัติการใช้ยา และการรับประทานอาหารของผู้ป่วย การรักษาอาการเบื่ออาหาร สามารถแยกตามสาเหตุได้ดังนี้
• เบื่ออาหารจากปัญหาสุขภาพกาย
ผู้ป่วยที่เบื่ออาหารเนื่องจากติดเชื้อแบคทีเรีย และไวรัส เพียงรับประทานยาแก้ไข้หวัด และดูแลสุขภาพให้ดี ก็สามารถหายจากอาการเบื่ออาหารได้ หากผู้ป่วยมีภาวะขาดสารอาหาร หรือเกลือแร่ในร่างกายต่ำ ก็จะได้รับน้ำเกลือ หรือสารอาหารเข้าทางหลอดเลือดดำ
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เบื่ออาหารจากโรคมะเร็ง หรือโรคเรื้อรังอื่น ๆ จะรักษาอาการเบื่ออาหารได้ยาก แต่สามารถประคองอาการไม่ให้แย่ลงได้ โดยกระตุ้นการทานอาหารโดยทานอาหารกับครอบครัว เพื่อน หรือเปลี่ยนสถานที่ทานอาหาร ทานอาหารมื้อย่อยบ่อย ๆ แทนมื้อใหญ่สามมื้อต่อวัน และทานอาหารที่ให้พลังงาน และโปรตีนสูง เป็นต้น
• เบื่ออาหารจากปัญหาสุขภาพจิต
ผู้ป่วยที่เกิดอาการเบื่ออาหารที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต เช่น ซึมเศร้า เครียด หรือป่วยเป็นโรคที่มีภาวะการกินผิดปกติ ต้องปรึกษาและเข้ารับการรักษากับจิตแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต
• เบื่ออาหารจากการใช้ยา
ผู้ที่รู้สึกเบื่ออาหารโดยมีสาเหตุมาจากการใช้ยา อาจต้องพบแพทย์เพื่อปรึกษาขอเปลี่ยนปริมาณยา หรือให้สั่งจ่ายยาตัวอื่นมาใช้รักษาแทน แต่ไม่ควรเปลี่ยนยา หรือหยุดใช้ยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์
ผู้ที่ทานอาหารเพียงพอทั้งด้านคุณภาพ และปริมาณ ร่ายกายย่อมต้านทานโรคได้สูงกว่าคนที่ละเลยเรื่องอาหาร จนเกิดภาวะทุพโภชนาการ ฉะนั้น การมีสารอาหารหลายอย่างสะสมไว้ในร่างกายเพียงพอ จึงเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น ๆ ที่จะต้านทานโรคภัยต่าง ๆ โดยเฉพาะ โรคไข้หวัด ที่คนไทยมักเป็นกันตลอดปี