ชนิดของอาการไอ
ถ้าแบ่งตามระยะเวลาของอาการไอ แบ่งได้ 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือ
1. ไอฉับพลัน
ระยะเวลาของอาการไอ – น้อยกว่า 3 สัปดาห์
สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจาก – การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น หวัด, โพรงไซนัสอักเสบฉับพลัน, คอหรือกล่องเสียงอักเสบ, หลอดลมอักเสบ, อาการกำเริบของโรคถุงลมโป่งพอง, ปอดอักเสบ, การที่มีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในหลอดลม หรือสัมผัสกับสารระคายเคืองในสิ่งแวดล้อม เช่น ควันบุหรี่, ควันไฟ, กลิ่นสเปรย์, แก๊ส, มลพิษทางอากาศ
2. ไอเรื้อรัง
ระยะเวลาของอาการไอ – มากกว่า 3 สัปดาห์ ถึง 8 สัปดาห์
สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจาก – โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง, รับประทานยารักษาความดันโลหิตสูงชนิด angiotensin-converting enzyme inhibitor (ACE-I) เป็นระยะเวลานาน, โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังแล้วมีน้ำมูกไหลลงคอ, โรคหืด, โรคกรดไหลย้อน [gastroesophageal reflux (GERD)], การใช้เสียงมากทำให้เกิดสายเสียงอักเสบเรื้อรัง, เนื้องอกบริเวณคอ กล่องเสียงหรือหลอดลม, โรคของสมองส่วนที่ควบคุมการไอ, โรควัณโรคปอด ผู้ป่วยที่มีอาการไอเรื้อรัง บางรายอาจมีสาเหตุมากกว่าหนึ่งชนิด ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการตรวจหาสาเหตุ และรักษาตามสาเหตุ
การรักษาอาการไอ
การรักษาที่สำคัญที่สุด คือ การหาสาเหตุของอาการไอ และรักษาตามสาเหตุ ถ้าผู้ป่วยไอจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน หรือล่าง เช่น หวัด หรือหลอดลมอักเสบ และมีอาการไอไม่มากนัก อาจให้การรักษาเบื้องต้น เช่น ยาบรรเทาอาการไอไปก่อนได้
กรณีที่ไอมีเสมหะ เสมหะที่เหนียวข้นมาก จะถูกขับออกจากหลอดลมได้ยากโดยการไอ การให้ ยาละลายเสมหะ จะช่วยให้เสมหะถูกขับออกได้ง่ายขึ้น และบรรเทาอาการไอได้ แต่หากผู้ป่วยได้รับยาดังกล่าวแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และรักษาตามสาเหตุ
อ้างอิง : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล