ตรุษจีน คือเทศกาลเกี่ยวกับประเพณี และวัฒนธรรมของชาวจีนที่มีชื่อเสียงที่สุด GED good life จึงถือโอกาสนี้รวบรวมข้อมูลที่ควรรู้เกี่ยวกับเทศกาลตรุษจีน ทั้งเรื่องวิธีไหว้ กิจกรรม ข้อห้าม และความหมายของไหว้ต่าง ๆ มีอะไรบ้าง เพื่อให้ชาวไทยเชื้อสายจีน มีเวลาเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับเทศกาลอันเป็นมงคลนี้
ความเป็นมาของวัน ตรุษจีน
ตรุษจีน (Chinese New Year) เป็นวันหยุดตามประเพณีของจีนที่สำคัญที่สุด ในประเทศจีน ยังมีอีกชื่อหนึ่งว่า “เทศกาลฤดูใบไม้ผลิ” เพราะฤดูใบไม้ผลิตามปฏิทินจีนเริ่มต้นด้วยวันลีชุน ซึ่งเป็นวันแรกในทางสุริยคติของปีปฏิทินจีน วันดังกล่าวยังเป็นวันสิ้นสุดฤดูหนาว (ซึ่งคล้ายกันกับงานเทศกาลของตะวันตก)
เทศกาลตรุษจีนเริ่มต้นในวันที่ 1 เดือน 1 ตามปฏิทินจีนโบราณ และสิ้นสุดลงในวันที่ 15 ด้วยเทศกาลโคมไฟ (เทศกาลปีใหม่จีนจึงไม่ตรงกันในแต่ละปี) คืนก่อนตรุษจีนเป็นวันซึ่งครอบครัวจีนมารวมญาติเพื่อรับประทานอาหารเย็นเป็นประจำทุกปี ซึ่งเรียกว่า ฉูซี่ หรือ “การผลัดเปลี่ยนยามค่ำคืน” เนื่องจากปฏิทินจีนเป็นแบบสุริยจันทรคติ ตรุษจีนจึงมักเรียกว่า “วันขึ้นปีใหม่จันทรคติ”
จุดกำเนิดของตรุษจีนนั้นมีประวัติหลายศตวรรษ จากการค้นคว้าของ กิตติธัช นําพิทักษ์ชัยกุล ทายาทรุ่นที่ 3 เจ้าของกิจการปฏิทินน่ำเอี้ยง ซึ่งเป็นปฏิทินจีนฉบับภาษาไทยที่ได้รับความนิยมมากในไทย ได้พบข้อมูลว่าเทศกาลตรุษจีนอาจเริ่มต้นในราชวงศ์โจว 周朝 (1046-256 ปีก่อนคริสตศักราช) เริ่มใช้คำว่า “Nián (年)” ซึ่งมีความหมายว่า “ปี” ในวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน ตรงกับปฏิทินตามจันทรคติจีน ในวันที่ 1 เดือน 1
ตรุษจีน มีการเฉลิมฉลองกันในหลายประเทศ และดินแดนซึ่งมีประชากรจีนอาศัยอยู่มาก อย่างเช่น จีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง อินโดนีเซีย มาเก๊า มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย รวมทั้งในชุมชนชาวจีนที่อื่น
วันจ่าย วันไหว้ และวันเที่ยว ตรงกับวันไหน และมีกิจกรรมอะไรบ้าง?
วันตรุษจีน ปี 2566 (ปีเถาะหรือปีกระต่าย – Year of the Rabbit) ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม 2566 โดยก่อนที่จะถึงวันตรุษจีนยังมีอีก 2 วันสำคัญของเทศกาลตรุษจีน คือ “วันจ่าย” และ “วันไหว้”
– วันจ่าย (หรือวันตื่อเล็ก) ตรงกับวันศุกร์ที่ 20 มกราคม 2566
เป็นวันที่ชาวไทยเชื้อสายจีนจะต้องไปหาซื้ออาหาร ผลไม้ เครื่องเซ่นไหว้ต่าง ๆ มาเตรียมพร้อมไว้ ก่อนที่ร้านค้าต่าง ๆ จะหยุดยาวในช่วงวันตรุษจีน
– วันไหว้ ตรงกับวันเสาร์ที่ 21 มกราคม 2566
เป็นวันที่ทุกคนจะทำการไหว้เทพเจ้าต่าง ๆ ด้วยอาหาร ผลไม้ และเครื่องเซ่นไหว้ต่าง ๆ ที่ซื้อเตรียมไว้ก่อนหน้านี้ และเป็นวันที่ให้ ‘อั่งเปา’ กันและกัน
– วันเที่ยว (หรือวันตรุษจีน) ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม 2566
เป็นวันที่ทุกคนจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีแดง หรือสีทอง ครอบครัวชาวจีนจะพากันออกไปท่องเที่ยว และไปไหว้ขอพรญาติผู้ใหญ่โดยนำส้มสีทองไปมอบให้ เพราะคำว่าส้มในภาษาจีนนั้นมีการออกเสียงพ้องกับคำที่เป็นมงคลต่าง ๆ เช่น ความสุข โชคลาภ หรือทอง พร้อมทั้งถือเคล็ดต่าง ๆ ตามธรรมเนียม เช่น งดทำบาป ไม่ด่าทอ ไม่พูดคำหยาบ และไม่คิดร้ายต่อกัน เพื่อความเป็นสิริมงคล
วิธีไหว้ตรุษจีน เสริมชีวิตให้เฮง เฮง เฮง!
ช่วงเช้ามืด คือ การไหว้ขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทพเจ้าต่าง ๆ ด้วยเครื่องไหว้ที่เป็นเนื้อสัตว์ 3 อย่าง คือ หมูสามชั้นต้ม ไก่ต้ม เป็ดต้ม พร้อมทั้งเหล้า น้ำชา และกระดาษเงิน-กระดาษทอง โดยจะกระทำในช่วง 7-8 โมงเช้า
- ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ใช้ธูป 3 ดอก
ช่วงสาย คือ การไหว้บรรพบุรุษที่เสียชีวิตแล้ว ด้วยซาแซ อาหารคาว-หวาน รวมถึงเผากระดาษเงิน-กระดาษทอง พร้อมเสื้อผ้าให้กับบรรพบุรุษ กระทำไม่เกินเที่ยงวัน นอกจากนี้หลังจากที่ทุกคนในครอบครัวร่วมรับประทานอาหารไหว้บรรพบุรุษเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะมีการแลกเปลี่ยนอั่งเปากันอีกด้วย
- ไหว้บรรพบุรุษใช้ธูป 3 ดอก
ช่วงบ่าย คือ การไหว้ผีไม่มีญาติ สัมภเวสี คล้ายของเซ่นบรรพชน แต่ถ้าไหว้ผีจะปูเสื่อไหว้ที่พื้น ด้วยข้าว กับข้าว ขนม เช่น ขนมเข่งกับขนมเทียน และกระดาษเงิน-กระดาษทอง รวมถึงมีการจุดประทัดเพื่อปัดเป่าไล่สิ่งชั่วร้ายด้วย (ประมาณบ่ายโมงถึง 4 โมงเย็น)
- ไหว้สัมภเวสี ใช้ธูป 1 ดอก
ไหว้เทพเจ้าขอโชคลาภ ในยามดึก
โดยฤกษ์ไหว้ไฉ่ซิงเอี้ย เทพเจ้าแห่งโชคลาภ ให้เริ่มทำในยามแรกของปี นั่นคือ เวลา 23.00 จนถึง 05.00 น. โดยตั้งโต๊ะไหว้ให้หันหาทิศตะวันออก อัญเชิญองค์ไฉ่ซิงเอี้ย เทพเจ้าแห่งโชคลาภ เพราะเชื่อว่าปีนี้เทพไฉ่ซิงเอี้ยจะเสด็จมาในทิศตะวันออกประทับสู่บ้านของเรา เพื่อความเป็นสิริมงคล
- ไหว้เจ้าให้ใช้ธูป 5 ดอก
9 ข้อห้ามทำในวันตรุษจีน
ข้อห้ามทำในวันตรุษจีน จะเชื่อมโยงกับความเชื่อที่สือบทอดกันมา เพื่อไม่ให้ขัดต่อโชคลาภที่จะได้รับในปีใหม่นี้
1. ห้ามทำความสะอาดบ้าน เพราะเชื่อว่าจะเป็นการกวาดโชคลาภออกไปจากบ้านจนหมด
2. ห้ามตัดผม สระผม ห้ามตัดเล็บ เพราะเชื่อว่าจะเป็นการนำความมั่งคั่งออกไป
3. ห้ามร้องไห้ กุศโลบายจะทำให้ร้องไห้ทั้งปี และเจอเรื่องเสียใจไปตลอด
4. ห้ามเข้าห้องนอนคนอื่น ความเชื่อนี้ระบุชัดว่าจะทำให้โชคร้าย
5. ห้ามทำของแตก หมายถึง ลางร้ายกำลังมาเยือน ครอบครัวจะแตกแยก
6. ห้ามใช้ของมีคม เพราะจะทำให้เหมือนกับตัดความโชคดีออกไป
7. ห้ามใส่เสื้อผ้าสีขาวดำ เพราะเป็นสีแห่งความเศร้าโศก จึงนิยมใส่สีแดง เพราะเป็นสีแห่งความสุข และโชคดี
8. ห้ามให้ยืมเงิน เพราะจะทำให้เสียทรัพย์ตลอดปี
9. ห้ามพูดจาไม่ดี หรือ ห้ามพูดคำหยาบ เพราะจะทำให้ครอบครัวทะเลาะกัน และนำพาแต่เรื่องวุ่นวายมาตลอดทั้งปี
อาหารคาว-ขนม-ผลไม้ เสริมมงคลในวันตรุษจีน มีความหมายอะไรบ้าง?
กลุ่มเนื้อสัตว์ หรืออาหารคาวต่าง ๆ
– ไก่ หมายถึง ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ความสง่างาม ยศ ตำแหน่ง ความขยัน
– หมู หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ มีกินมีใช้ตลอดทั้งปี
– เป็ด หมายถึง สิ่งที่บริสุทธิ์ ความสะอาด และความสามารถอันหลากหลาย
– ปลา หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ เหลือกินเหลือใช้
– เป๋าฮื้อ หมายถึง มีความเชื่อว่าเป็นอาหารสิริมงคล เพราะมีความหมายช่วยห่อความมั่งคั่งให้เหลือกินเหลือใช้ นิยมกินในโอกาสสำคัญ
– ปู หมายถึง การสอบได้ตำแหน่งที่ดี
– กุ้งมังกร, กุ้ง หมายถึง ความมีอำนาจวาสนา ชีวิตที่รุ่งเรืองรวมทั้งเป็นตัวแทนของความสุข
– สาหร่ายดำ หมายถึง ความร่ำรวย
– ตับ หมายถึง อำนาจวาสนา
– บะหมี่ยาว หรือหมี่ซั่ว หมายถึง การมีอายุยืนยาว
กลุ่มขนมมงคล
– ขนมเข่ง หมายถึง ความหวานชื่น ความราบรื่นในชีวิต ความอุดมสมบูรณ์
– ขนมเทียน หมายถึง ความหวานชื่น ราบรื่น รูปลักษณ์เป็นกรวยแหลมมีลักษณะเป็นมงคลเหมือนเจดีย์
– ขนมไข่ หมายถึง ความเจริญเติบโต
– ขนมถ้วยฟู หมายถึง เพิ่มความรุ่งเรือง เฟื่องฟู
– ซาลาเปา, หมั่นโถว หมายถึง ไหว้เพื่อให้เปาไช้ ห่อโชค ห่อลาภ
– จันอับ หมายถึง เพิ่มพูน มีความสุขตลอดไป ประกอบด้วยขนม 5 อย่าง คือ
- เต้ายิ้งปัง คือ ขนมถั่วตัด
- มั่วปัง คือ ขนมงาตัด
- ซกซา คือ ถั่วเคลือบน้ำตาล
- กวยแฉะ คือ ฟักเชื่อม
- โหงวจ๊งปัง คือ ขนมข้าวพอง
– ขนมต้ม หมายถึง บรรพชนอวยพร
กลุ่มผลไม้มงคล
– กล้วย หมายถึง กวักโชคลาภ มีลูกหลาน มีวงศ์วานว่านเครือสืบสกุล
– ส้มสีทอง หมายถึง มหาสิริมงคล โชคดี ประสบแต่สิ่งดี ๆ
– องุ่นสีแดง หมายถึง ความเพิ่มพูน ความเจริญงอกงาม และการมีอายุยืนนาน
– แอปเปิลสีแดง หมายถึง ความสันติสุข สันติภาพ
– สาลี่ หมายถึง รักษาคุณงามความดี รักษาโชคลาภเงินทองไม่ให้เสื่อมหาย
– ส้มโอ หมายถึง ความสมบูรณ์
– เมล่อน หมายถึง การเจริญเติบโต
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
อ้างอิง 1. th.wikipedia 2. prachachat 2. thairath