ผิวแห้งแตกจนเกิด ผื่นคัน ผื่นแดง เป็นปัญหาที่เกิดได้กับคนทุกวัย และเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การสัมผัสกับสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง อาการแพ้ การถูกแมลงกัดต่อย หรืออาจเป็นอาการของผิวหนัง แต่อาการคันคะเยอชวนให้เกานี้ ก็มีวิธีแก้อยู่หลายวิธี ที่สามารถทำได้ง่าย ๆ จากของที่มีอยู่รอบตัว ใครมีผื่นคันอยู่ อย่าพลาด มาติดตามกันเลย!
ผื่นคัน ผื่นแพ้ ผิวหนังอักเสบ เกิดจากอะไรได้บ้าง ?
อาการผื่น คัน (Rash) เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น อาหาร อากาศ ความเครียด การสัมผัสสิ่งที่ทำให้ผิวหนังเกิดควมระคายเคือง แม้ว่าหลายครั้งอาจสาเหตุที่ทำให้เกิดผื่นคันไม่พบ และบางรายอาจใช้เวลาในการรักษานานเป็นปี ๆ
แต่ส่วนใหญ่แล้ว ผื่นแพ้ และ ผื่นคัน ที่เกิดขึ้น ก็มักไม่สร้างความเดือดร้อนมากนัก ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต และสามารถรักษาให้หายได้ แต่ผื่นแพ้ และผื่นคัน ก็สามารถเป็นหนึ่งในอาการแพ้รุนแรง ที่เกิดขึ้นร่วมกับอาการปากบวม หน้าบวม คลื่นไส้อาเจียน เวียนหัว หมดสติ อาจถึงขั้นหายไม่ออก ช็อก และอาจถึงชีวิตได้เช่นกัน
- ปรึกษาแพทย์ฟรี เรื่องภูมิแพ้ และสุขภาพอื่น ๆ
- ผื่นกุหลาบ โรคผิวหนังที่มาพร้อมหน้าฝน! สาเหตุ อาการ วิธีรักษา
- ผื่นแพ้สัมผัส สาเหตุ อาการ วิธีรักษา
เป็น ผื่นคัน แก้ได้ยังไงบ้าง?
1. ประคบเย็น
ใช้ผ้าสะอาดห่อน้ำแข็ง หรือผ้าชุบน้ำเย็น แล้วนำไปประคบบริเวณที่มีผื่นคัน 10-15 นาที ประคบบริเวณที่เกิดผื่น จะสามารถช่วยบรรเทาอาการปวด บวม อักเสบ และอาการคันของผิวหนังได้ เนื่องจากความเย็นจะช่วยชะลอการไหลเวียนของเลือดบริเวณผิวหนังดังกล่าว และลดการหลั่ง “สารฮีสตามีน” ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดผื่นคันได้
นอกจากนี้ ความเย็นยังช่วยทำให้รู้สึกชา และรู้สึกคันน้อยลง แต่ไม่ควรใช้วิธีนี้ ในกรณีที่เป็นผื่นคัน ที่เกิดจากการแพ้ความเย็น (Cold Urticaria) เช่น แพ้อากาศเย็น อากาศแห้ง และหลีกเลี่ยงการวางน้ำแข็งบนผิวหนังโดยตรง เนื่องจากอาจทำให้เกิดความผิดปกติได้
2. อาบน้ำ
การอาบน้ำ สามารถช่วยลดอาการผื่นคันได้ในระดับหนึ่ง เพราะเมื่อเราอาบน้ำ หรือแช่น้ำในอ่าง น้ำจะซึมซาบเข้าไปในผิว ทำให้ผิวชุ่มชื้น และมีอาการคันลดน้อยลง สามารถอาบได้ทั้งน้ำเย็น และน้ำร้อน แต่การอาบ หรือแช่น้ำเย็น จะช่วยบรรเทาอาการคันได้เร็วกว่า เพราะน้ำเย็นจะทำให้ปลายประสาทชา และลดอาการคัน อาการบวม และอักเสบลงได้ น้ำเย็นจะได้ผลดีเป็นพิเศษในผู้ที่มีผื่นแพ้จากความร้อน อาการไข้ หรือออกกำลังกายจนเกิดผื่นแพ้
3. ไม่ใส่เสื้อรัดรูปมากเกินไป
Physical Urticaria หมายถึง ผื่นแพ้ หรือผื่นคัน ที่เกิดจากการโดนบีบรัด หรือการสัมผัสเสียดสีจากเสื้อผ้ามากเกินไป อาการของผื่นแพ้ที่เกิดจากการกดทับ หรือเสียดสีมากเกินไป คือ หากเสื้อผ้าหรือชุดชั้นในที่รัดแน่นมากเกินไป เมื่อถอดออกมา จะเห็นเป็นรอยปื้นหนา ๆ และอาจมีอาการคันที่ทำให้อยากเกา แต่หากเกา ผื่นจะยิ่งลามออกไป จึงควรหลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้า และชุดชั้นในรัด ๆ หรือมีขนาดเล็กเกินไป
4. ใช้ว่านหางจระเข้พอก
ว่านหางจระเข้ เป็นพืชสมุนไพรที่นิยมนำมาใช้รักษาอาการผื่นคัน และปัญหาผิวหนังอย่างแพร่หลาย เนื่องจากสารอาหาร และแร่ธาตุในว่านหางจระเข้นั้น มีคุณสมบัติต้านการอักเสบ ฆ่าเชื้อโรค และช่วยปลอบประโลมผิว จึงสามารถบรรเทาอาการผื่นแดงคัน และเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนังได้ เมื่อผิวมีความชุ่มชื้น และนุ่มนวลมากขึ้น อาการผื่นคันก็จะลดลง
วิธีใช้ ให้ทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่มีผื่นคัน และซับให้แห้ง จากนั้นปอกเปลือกสีเขียวด้านนอกของว่านหางจระเข้ออก แล้วขูดเจลใส ๆ ด้านในออกมา นำมาพอกบริเวณผิวหนังที่มีอาการคัน วันละ 2 ครั้ง จนกระทั่งผื่นหายไป หรือเลือกซื้อว่านหางจรเข้ที่สกัดออกมาในรูปแบบเจล
ในปัจจุบันยังมีผลิตภัณฑ์เจลว่านหางจระเข้สำเร็จรูปวางจำหน่ายอยู่ทั่วไป ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีสารเคมี อย่างน้ำหอม แอลกอฮอล์ และวัตถุกันเสีย เนื่องจากส่วนประกอบเหล่านี้อาจก่อให้เกิดการระคายเคือง และทำให้ผื่นรุนแรงขึ้นได้
5. หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นให้เกิดผื่น
หากทราบว่าสิ่งไหนที่ทำให้เราเกิดผื่นแพ้ หรือผื่นคัน ก็ควรหยุดใช้ของสิ่งนั้น หรือหลีกเลี่ยงการสัมผัสให้มากที่สุดทันที เช่น อุปกรณ์อาบน้ำ เครื่องสำอางอย่าง สบู่อาบน้ำที่ผสมเม็ดสครับ เมื่อใช้ถูกับร่างกาย อาจทำให้ผิวหนังเกิดแผลเล็ก ๆ หรือมีอาการระคายเคืองได้
6. ทาผิวด้วยน้ำมันที่สกัดจากพืช
น้ำมันจากพืชบางชนิด สามารถช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวได้เป็นอย่างดี ยิ่งไปกว่านั้น พืชแต่ละชนิดก็มีสารอาหาร และสารต้านอนุมูลอิสระที่แตกต่างกันออกไป แต่มักมีคุณสมบัติในการช่วยลดการอักเสบ และเพิ่มความชุ่มชื้นที่คล้ายกัน
โดยน้ำมันจากพืช ที่สามารถนำมาใช้แก้อาการผื่นคันได้ เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันคาโมมายด์ และโจโจบาออยล์ เป็นต้น โดยสามารถใช้ลงบนผิวหลังอาบน้ำได้ทันที หรือใช้ผสมกับโลชั่น หรือครีมบำรุงผิวก็ได้เช่นกัน
7. แช่น้ำผสมเบกกิ้งโซดา
เบกกิ้งโซดา หรือโซเดียมไบคาโบเนต สามารถช่วยปรับสมดุลของกรด และด่างบนผิวหนัง และบรรเทาอาการคัน ผื่นแดง และตุ่มแดงจากแมลงกัดต่อยได้ โดยนำเบกกิ้งโซดา 1-2 ถ้วยผสมกับน้ำอุ่น แล้วแช่ผิวหนังส่วนที่มีผื่นในน้ำเบกกิ้งโซดา จากนั้นล้างออกเช็ดให้แห้ง และทาสารให้ความชุ่มชื้น หรือมอยส์เจอไรเซอร์ หรือหยดน้ำใส่เบกกิ้งโซดาเล็กน้อยให้พอหนืด แล้วนำไปทาบริเวณผิวหนังที่ถูกแมลงกัด หรือมีอาการคัน
8. ใช้คาลาไมน์โลชั่น
คาลาไมน์โลชั่น (Bubble Gum Pink Liquid) เป็นยาน้ำสีชมพู มีกลิ่นหอมเย็น สามารถช่วยลดอาการคันได้อย่างดี และหาซื้อได้ง่าย อีกทั้งช่วยให้ผิวเกิดความชุ่มชื้นอีกด้วย ผู้ที่มีผื่นคันบ่อย ๆ ควรพกคาลาไมน์เอาไว้ในที่ต่าง ๆ เพื่อที่จะได้สามารถหยิบมาใช้ได้ในทุกครั้งที่มีอาการคัน
9. กินยาแก้แพ้
ยาแก้แพ้ สามารถช่วยลดอาการผื่นคัน ผื่นแพ้ ที่เกิดจากร่างกายหลั่งสารฮีสตามีนออกมา ซึ่งร่างกายจะหลั่งสารนั้นออกมาได้จากหลายสาเหตุ เช่น แพ้อาหาร ความเครียด หรือสัมผัสสารเคมีต่าง ๆ ยาแก้แพ้ จะออกฤทธิ์ช่วยยับยั้งการหลั่งสารฮีสตามีน ทำให้มีอาการคันลดลง อย่างไรก็ตาม ยาแก้แพ้บางชนิด เมื่อกินแล้วจะเกิดอาการง่วง หากไม่อยากง่วงเพราะต้องทำงาน หรือขับรถ ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร ให้เลือกยาแก้แพ้แบบที่กินแล้วไม่ง่วง เช่น ยาแก้แพ้ ที่มีส่วนผสมของลอราทาดีน เป็นต้น
- ยาแก้แพ้ มีกี่ชนิด และควรเลือกอย่างไรดี?
- การเลือกใช้ยาแก้แพ้ในเด็ก ควรเลือกอย่างไรดี?
- รู้มั้ย ลอราทาดีน คือยาอะไร ทำอะไรได้บ้าง?
ตรวจ PATCH TEST เพื่อความชัวร์
หากสงสัยว่าอาการผื่นคันที่กำลังเป็นอยู่ เกิดจาก “ภูมิแพ้ผิวหนัง” อาจพบแพทย์เพื่อลองทำ Patch Test เป็นวิธีตรวจให้แน่ชัดว่าคนไข้แพ้อะไร เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งนั้น ๆ แพทย์จะนำสารเคมี อาทิ ครีมกันแดด ยาย้อมผม โลหะ ฯลฯ มาทดสอบ โดยใช้วิธีการ คือ ใส่แผ่น Finn Chamber ปิดไว้ที่หลังบริเวณระหว่างสะบัก (คล้ายปิดพลาสเตอร์ยาขนาดใหญ่) นาน 3 วัน ห้ามถูกน้ำ จากนั้นจึงมาเปิดดูว่าคนไข้มีปฏิกิริยากับสารเคมีตัวไหน
แม้ว่า ผื่นคัน ผื่นแพ้ ผิวหนังอักเสบ สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่สิ่งสำคัญ ที่สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการได้ดีที่สุด ก็คือ การหลีกเลี่ยงมลภาวะ และสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ อย่างความร้อน แสงแดด ฝุ่นควัน และความเครียด รวมถึงการเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผักผลไม้ที่ช่วยเสริมภูมิต้านทาน และออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เพื่อเสริมสร้างสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงนั่นเอง
อ้างอิง :
1. Doctor Top 2. pobpad.com 3. sanook.com 4. bangkokhospital.com
ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี
TikTok : @gedgoodlife