พญ.หทัยชนก บันสิทธิ์ คงมนัส (หมอโอปอล)
กุมารแพทย์เฉพาะทางต่อมไร้ท่อ
เวลาลูกตื่นกลางดึกด้วยอาการไอ หลับไม่สนิท แม่ๆ อย่างเราก็หลับไม่ลงไปด้วย นอกจากรบกวนสุขภาพการนอนแล้ว สาเหตุของการไอก็เป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ GEDไว้แก้ภูมิแพ้ มาดูกันว่า ไอแต่ละแบบ บอกใบ้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร จะหายเองได้ไหม และแม่ๆ จะดูแลลูกน้อยอย่างไรได้บ้าง
ไอแบบกระแอม
เกิดจากมีเมือกไหลลงคอ ซึ่งเป็นกลไกปกติของร่างกายที่จะจับเอาเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอม แต่ที่เมือกมี มากกว่าปกติ เป็นเพราะโรคภูมิแพ้ หรือมีการติดเชื้อในโพรงจมูกหรือลำคอ เช่น เป็นหวัด การนอนราบยิ่งทำให้น้ำมูกบางส่วนไหลลงคอกลายเป็นเสมหะง่ายขึ้น จึงกระตุ้นให้เด็กเกิดอาการไอตอนกลางคืนได้มากขึ้น
วิธีการบรรเทาอาการง่ายๆ คือ การนอนยกหัวสูง และอย่าลืมสังเกตสาเหตุ มีอาการเฉพาะเจอสิ่งกระตุ้นเดิมๆ หรือไม่ เช่น ตอนนอนในเตียงที่มีตุ๊กตา หรือฟูก/หมอนที่เป็นนุ่น อาจแพ้ไรฝุ่น หรือเป็นช่วงที่ค่าฝุ่น PM 2.5 สูงๆ หรือไม่ได้เปิดเครื่องฟอกอากาศ เหล่านี้ อาจจะเกิดจากภูมิแพ้ แม่ๆ ต้องจดบันทึกและแจ้งข้อมูลนี้กับคุณหมอเด็กโรคภูมิแพ้ หรือหากไอกระแอมพร้อมกับ น้ำมูกสีเขียวเหนียวข้น มีกลิ่นปาก เด็กบ่นแน่นจมูก ปวดหน้า ปวดหัวบ่อยๆ อาจเกิดจากการติดเชื้อในโพรงจมูกลามเข้าไซนัส ก็เป็นได้
ไอแบบเห่า
คือ ไอเสียงก้อง ร้องเสียงแหบ จาก เส้นเสียงที่บวมอักเสบ ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อในลำคอแล้วลามลงหลอดลมและกล่องเสียง ดังนั้นจึงมักมีอาการหวัด(ไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ) นำมาก่อน และมักเกิดในเด็กเล็กๆวัยก่อนเข้าโรงเรียน ถ้าเส้นเสียงบวมรุนแรง จะหายใจเสียงดัง นอนกรนทั้งๆที่ปกติ ไม่กรน หายใจหอบหน้าอกบุ๋ม หรือเห็นกระดูกซี่โครง กลืนน้ำลายไม่ได้ น้ำลายไหลมุมปาก
การเปิดเครื่องฟอกอาการแบบปรับความชื้นได้ (humidifier) ในช่วงที่เป็นหวัด อาจช่วยป้องกันได้บ้าง แต่ไม่ 100% หากมีอาการ ไอแบบเห่า ถือว่าเป็นภาวะเร่งด่วน ควรพาไปพบแพทย์ฉุกเฉิน
ไอกรน
คือ ไอเป็นชุดๆ ต่อเนื่องกัน ไอมากจนเด็กอาเจียน เหนื่อยหลังไอ เป็นรุนแรงในเด็กทารก ซึ่งภูมิคุ้มกันต่อไอกรนอยู่ในวัคซีนพื้นฐานภาคบังคับที่ได้รับตั้งแต่ตอนอายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน เด็กที่ได้รับวัคซีน จึงมีภูมิแล้ว โรคนี้จึงพบได้น้อยลงในสังคมที่วัคซีนทั่วถึง
วิธีการบรรเทาอาการง่ายๆ คือ คือให้ทานน้ำให้เพียงพอ สังเกตอาการ หากสงสัย ควรพาไปตรวจวินิจฉัยและรักษาให้ทันท่วงที เพื่อคุณหมอจะได้ให้ยาฆ่าเชื้อเฉพาะโรคไอกรน
ไอพร้อมหายใจวี้ด
คือ ไอแล้วเหนื่อย แน่นหน้าอก หายใจออกเสียงวี้ด จะเป็นมากเวลาเจอสิ่งกระตุ้นเดิมๆ เช่น พ่อสูบบุหรี่ ละอองเกสรดอกไม้ ขนแมว เป็นอาการของ โรคหอบหืด ต้องได้รับยาพ่นที่บรรเทาอาการ เวลาเกิดเสียงวี้ด ควบคู่กับยาควบคุมอาการกำเริบ
การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น แต่ถ้าเกิดเสียงวี้ดแล้วต้องพาไปรพ.เพื่อพ่นยาขยายหลอดลมทันที
ไอ+อาเจียน
อาเจียน เป็นมาตรการขั้นเด็ดขาดที่ร่างกายจัดการกับเสมหะที่เหนียวข้นและปริมาณมาก แปลว่าเป็นรุนแรงพอควรแล้ว เช่นเกิดจากเชื้อ RSV เชื้อลงหลอดลม หรือลงปอด หรือ เกิดจากการไอถี่ๆเป็นชุด จนไปดันอาหาร นม ที่ทานเข้าไปออก เช่นจากหอบหืด หรือโรคไอกรน ซึ่ง การอาเจียนแต่ละครั้งทำให้ร่างกายขาดน้ำ ยิ่งทำให้เสมหะเหนียวข้นแย่มากกว่าเดิม ดังนั้นเด็กที่ไอจนอาเจียน มักต้องการการดูแลเร่งด่วน หรือต้องแอดมิทมากกว่า
ไอ+มีไข้
มักจะเกิดจากการติดเชื้อหวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือ COVID อาจมี น้ำมูก บ่นปวดหัว ปวดเมื่อยเนื้อตัว เบื่ออาหาร การดูแลเบื้องต้น ควรตรวจ ATK (ที่ตรวจไข้หวัดใหญ่ได้ด้วยยิ่งดี) ทานยาบรรเทาตามอาการ ให้พักผ่อน และทานอาหารให้เพียงพอเพื่อให้ร่างกายจัดการเชื้อได้ แยกจากคนอื่นๆในบ้าน วัดไข้และเช็ดตัวลดไข้บ่อยๆ เพื่อป้องกันภาวะชักจากไข้สูง
หากแต่อย่าลืมสังเกต อาการของภาวะแทรกซ้อน เช่น ไข้นานกว่า 3 วัน บ่นปวดหัว ปวดหู ซึม เพลีย ทานได้น้อย ควรพาไปตรวจ และ ไม่ควรให้ยาลดไข้สูงโดยไม่จำเป็น
ไอแบบของเล่น/อาหารติดคอ
คือ ไอถี่ๆ ไอหนักๆ ร่างกายพยายามเค้น ขับสิ่งแปลกปลอมออกมา ส่วนใหญ่เกิดกลางวันตอนทานข้าวหรือเล่นของเล่นอยู่ ยกเว้นบางบ้าน ลูกคลานมาเล่นเองในตอนกลางคืน แล้วอยู่ดีๆ มีอาการไอหนัก โดยไม่ได้มีหวัดมาก่อนหน้านี้ ถ้าสงสัยอย่าทุบหลัง หรือเอามือล้วงคอเพราะจะยิ่งไปดันสิ่งอุดตันให้ลึกเข้าไป หรือ เลื่อนไปอุดตันหลอดลมใหญ่ ทำให้เสียชีวิตอย่างรวดเร็วได้ ควรพาไปรพ. โดยด่วน
หากมีอาการเขียว หรือ ไม่มีเสียงร้อง หายใจลำบากแล้ว ให้รีบเรียกรถพยาบาล และ
- ถ้าเป็นเด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี สามารถช่วยด้วยการจับเด็กนอนคว่ำบนท่อนแขน ศีรษะต่ำกว่าลำตัวเล็กน้อย แล้วใช้มือประคองบริเวณศีรษะ วางไว้บนต้นขาเพื่อช่วยประคอง ใช้บริเวณสันมือตบบริเวณระหว่างสะบักด้านหลัง 5 ครั้ง (back blow) ถ้ายังไม่หลุด ให้พลิกตัวเด็กกลับมานอนหงาย ประคองศีรษะให้ต่ำเหมือนเดิม แล้วก็ใช้นิ้วมือกดตรงกระดูกหน้าอกส่วนล่าง 5 ครั้ง (chest thrust) โดยทำจนกว่าสิ่งแปลกปลอมจะหลุดออกมา
- สำหรับเด็กโตที่อายุมากกว่า 1 ปี ให้เด็กยืนโน้มตัวไปทางด้านหน้าเล็กน้อย ผู้ปกครองเข้าทางด้านหลัง ใช้แขนสอดใต้รักแร้สองข้างโอบตัวเด็กไว้ มือข้างหนึ่งกำเป็นกำปั้นวางไว้ที่ใต้ลิ้นปี่ วางอีกมือไว้บนกำปั้น ดันขึ้นเข้าใต้ลิ้นปี่ (Heimlich maneuver) ทำจนกว่าสิ่งแปลกปลอมจะหลุดออกมา
สิ่งสำคัญที่คุณแม่ คุณพ่อ ควรทำ คือ การป้องกัน โดยไม่เลือกของเล่นชิ้นเล็กที่อุดตันหลอดลมได้ หรือชิ้นใหญ่แต่กัดแตกได้ และไม่วางของเล่นไว้เกะกะบนเตียง รวมทั้งในที่ๆ เด็กหยิบเล่นเองกลางคืนได้ง่ายในช่วงที่ไม่มีพ่อแม่เฝ้าดูอยู่ด้วย
ลักษณะของการไอในเวลากลางคืน มีความหมายบ่งบอกสาเหตุได้มากมายกว่าที่ทุกคนคิด และหากสังเกตดีๆ ก็จะช่วยลูกให้ได้รับการวินิจฉัยรักษาได้เร็วและตรงจุด เพราะคุณแม่ คุณพ่อ นอกจากเป็น ครู คนแรกแล้ว ยังเป็น คุณหมอคนแรก ของลูกอีกด้วย มา GEDไว้แก้ภูมิแพ้ กับสาระความรู้ดี ดี ไว้ดูแลลูกน้อยยามมีอาการภูมิแพ้กำเริบ