หอบหืด (Asthma) โรคที่ทั้งโลกให้ความสำคัญ เพราะยิ่งนานวัน คนยิ่งเป็นโรคนี้กันมากขึ้น! เนื่องจากสภาพอากาศที่ย่ำแย่ลง รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้คนเรา เป็นหอบหืด กันได้ง่าย ๆ ผู้ป่วยโรคหอบหืดหลายคนต้องทนทรมานกับอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก รวมถึงมีอาการไอ ต้องใช้ยาพ่นอยู่เป็นประจำ ฉะนั้น เรามาเรียนรู้โรคหอบหืดกันให้มากขึ้น พร้อมหาคำตอบกันว่า เมื่อเป็นหอบหืดจำเป็นต้องใช้ยาพ่นไปตลอดหรือไม่? และวิธีรักษา ป้องกันโรคหอบหืด
ทำความเข้าใจกับ โรคหอบหืด กันสักนิด
นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า “โรคหอบหืด เป็นการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ซึ่งเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม และปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมที่ทำให้หลอดลมของผู้ป่วยมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ และสิ่งแวดล้อมมากกว่าคนปกติ ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการไอ และหายใจไม่สะดวกจากการที่หลอดลมตีบ และอักเสบ ในรายที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง การอักเสบเรื้อรังของหลอดลมอาจนำไปสู่การเกิดพังผืด และการหนาตัวอย่างมาก ทำให้มีการอุดกั้น ของหลอดลมอย่างถาวรได้”
โรคหอบหืดนี้มักมีอาการตั้งแต่เด็ก และมักมีประวัติเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรังอยู่เป็นประจำ โดยเป็นบ่อยในฤดูฝน และฤดูหนาว (หรือปลายฝนต้นหนาว) แต่บางรายอาจเป็นอยู่ตลอดทั้งปี ซึ่งเวลาที่ผู้ป่วยไม่มีอาการหอบหืดจะแลดูแข็งแรง เหมือนคนปกติทุกอย่าง แต่ถ้าหากอาการหอบหืดกำเริบขึ้นมา ก็จะทรมานกับหลายอาการที่รุมเร้าเข้ามา เช่น ไอ เหนื่อยหอบ หายใจยาก เป็นต้น
อาการบ่งชี้ของโรคหอบหืด
ผู้ป่วยโรคหอบหืด มักจะมีอาการจะเป็น ๆ หาย ๆ ส่วนใหญ่เป็นช่วงกลางคืน หรือเช้ามืด (จึงทำให้ผู้ป่วยนอนไม่เพียงพอและอาจนำไปสู่โรคอื่น ๆ ได้อีก) และหลังจากสัมผัสปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ
1. มีอาการไอ มีเสมหะมาก และเหนียวข้น
3. หายใจมีเสียงหวีด และเหนื่อยหอบ
4. มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดอื่น ๆ เช่น โรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ภูมิแพ้ผิวหนัง ภูมิแพ้อาหาร เป็นต้น
ส่่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยที่ เป็นหอบหืด จะไม่มีไข้ ในรายที่มีไข้มักเป็นหืดร่วมกับอาการของไข้หวัด, หลอดลมอักเสบ หรือปอดอักเสบ หรือในรายที่พบว่าความดันโลหิตสูง เท้าบวม หน้าบวม และนอนราบไม่ได้ร่วมด้วย อาจเป็นอาการหอบที่มีสาเหตุจากโรคหัวใจ หรือโรคไต ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และให้การรักษาอย่างทันท่วงที
โรคหอบหืด กับ ยาสูดพ่น
ยาหลักที่ใช้ในการรักษาโรคหืด คือ ยาต้านการอักเสบ ส่วนยาขยายหลอดลมใช้เมื่อมีการตีบของหลอดลมจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบหลอดลม ทำให้มีอาการหอบเกิดขึ้น
ยาสูดพ่น ที่ใช้รักษาบรรเทาโรคหอบหืด แบ่งออกเป็น 2 ชนิด
1. ยาพ่นหอบหืดแบบป้องกันการอักเสบ (controllers) – ใช้เพื่อควบคุมโรคหืด รักษาการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ยาที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด คือยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดสูด (inhaled corticosteroid หรือ ICS) ใช้ทุกวันเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการหอบในรายที่มีอาการค่อนข้างบ่อย มีทั้งยาสเตียรอยด์ และไม่ใช่สเตียรอยด์
2. ยาพ่นหอบหืดแบบขยายหลอดลม (relievers) – ใช้เพื่อบรรเทาอาการของโรคหืด โดยยาจะออกฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อบริเวณปอด และหลอดลม ทำให้บริเวณดังกล่าวเกิดการขยายตัวออก ผู้ป่วยจึงสามารถหายใจได้สะดวกมากขึ้นได้แก่ ยาขยายหลอดลมชนิดสูดที่ออกฤทธิ์เร็ว (ที่ใช้บ่อยคือยา rapid acting beta2 agonist)
นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งยาพ่นสูดตามอุปกรณ์ที่ใช้ได้ 3 กลุ่มด้วยกัน คือ
1. ยาพ่นแบบฝอยละออง (Nebulizer) เป็นยาน้ำพ่นผ่านกระเปาะยาเป็นฝอยละออง ต้องอาศัยกระเปาะพ่นยา และหน้ากากต่อเข้ากับเครื่องพ่นยา หรือสายออกซิเจน (ที่โรงพยาบาล)
2. ยาพ่นสูดประเภทผงแห้ง (Dry powder) ใช้สูดทางปากโดยอาศัยแรงสูดที่เหมาะสม
3. ยาพ่นสูดชนิดที่ใช้ก๊าซ (Metered-dose inhaler, MDI) สามารถใช้พ่นเข้าทางปากโดยตรง หรือต่อกับกระบอกพ่นยาในเด็กเล็ก ยาประเภทนี้นิยมใช้สาร CFC เป็นตัวขับเคลื่อนในกระบอกยา
หลายคนเข้าใจว่า โรคหอบหืด แค่พ่นยาแล้วก็หาย แต่อันที่จริงเป็นความเข้าใจที่ผิด และอาจนำไปสู่อันตรายได้ เพราะถ้าเราพ่นยาซ้ำ ๆ บ่อย ๆ สมรรถภาพของปอดก็จะลดลงเรื่อย ๆ และหลอดลมก็อาจจะเกิดการเสื่อมอย่างถาวรได้ (airway remodeling)
ยาสูดพ่นอันตรายไหม ต้องใช้ไปตลอด และต้องพกติดตัวไว้เสมอหรือไม่?
เนื่องจากโรคหอบหืดเป็นโรคเรื้อรัง และรักษาไม่หาย ผู้ป่วยโรคหอบหืดจึงมีความจำเป็นต้องใช้ยาสูดพ่นไปตลอด เมื่อมีอาการ แต่ถ้าหากไม่มีอาการก็ไม่จำเป็นต้องใช้ และข้อมูลจาก โรงพยาบาลรามคำแหง ได้ชี้ชัดว่า การใช้ยาพ่นเเป็นระยะเวลานาน มีความปลอดภัย เนื่องจากปริมาณยาพ่นต่างจากยากินเป็นพันเท่า ยาพ่นนี้จึงปลอดภัยมากถึงแม้จะต้องสูด หรือพ่นเป็นเดือนหรือเป็นปีก็ตาม
ฉะนั้นผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืด จำเป็นต้องมียาสูดพ่นติดตัวไว้เสมอ หากมีอาการจะได้สามารถนำมาใช้ได้ทันท่วงที และควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
ข้อพึงปฏิบัติสำหรับผู้ที่ใช้ยาชนิดสูดพ่น
1. ถ้าไม่เคยใช้ยาสูดพ่นรักษาหอบหืดมาก่อน ต้องทำความเข้าใจวิธีใช้ให้ถูกต้อง จนมั่นใจว่าทำได้ อาจลองทำหน้ากระจก หากสังเกตเห็น “ควัน” ออกจากส่วนบนของกระบอก หรือจากมุมปาก แสดงว่าหุบปากไม่สนิท ทำให้ยาไม่เข้าปาก ถ้ามีกระบอก ควรพ่นผ่านกระบอก จะได้ผลมากกว่า
2. ยาสูดพ่นประเภทสเตียรอยด์ ให้อมน้ำบ้วนปากทุกครั้งหลังสูดพ่นยา เพื่อลดอาการปากคอแห้ง ลดการเกิดเชื้อรา (ฝ้าขาว) ในช่องปาก และเสียงแหบ
3. ถ้ามีเสมหะ ก่อนสูดพ่นยา ควรกำจัดเสมหะออกจากลำคอก่อน หากเสมหะเหนียวข้นมาก ให้ดื่มน้ำเยอะ ๆ เพื่อละลายเสมหะ หรือกินยาแก้ไอละลายเสมหะ หรือใช้เครื่องดูดเสมหะออกมา
4. หากลืมสูดพ่นยา ให้สูดพ่นทันทีที่นึกได้ และสูดพ่นครั้งต่อไปตามปกติ แต่ถ้านึกได้ใกล้เคียงกับ เวลาของครั้งต่อไป ก็ให้พ่นครั้งต่อไปแทนเลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
5. ผู้ที่ใช้ยาสูดพ่น 2 ชนิดร่วมกัน ต้องเว้นระยะในการพ่นแต่ละชนิด 5 นาที โดยควรพ่นยาชนิด ขยายหลอดลมก่อน แล้วเว้นระยะ 5 นาที จึงพ่นชนิดสเตียรอยด์
6. อุปกรณ์ชนิดสูดพ่น (Inhaler) ควรมีการถอดล้างทำความสะอาด ตามคำแนะนำเป็นระยะ
7. หมั่นตรวจสอบจำนวนยาว่ามีเหลือมากน้อยเท่าใด (ตามคำแนะนำในยาแต่ละชนิด) โดยเฉพาะยาชนิดขยายหลอดลม เพื่อให้มียาพร้อมใช้ เพราะหากไม่มียาขณะจับหืด อาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้
การรักษา ป้องกันโรคหอบหืด ตามคำแนะนำจากแพทย์
แพทย์หญิงวิพรรณ สังคหะพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวว่า การรักษาโรคหอบหืดสามารถทำได้ดังนี้
1. การป้องกันไม่ให้เกิดสารกระตุ้น คือ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยง หรือขจัดสิ่งต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ หรือกระตุ้นอาการหอบหืดให้เกิดขึ้น อาทิ ไรฝุ่น แมลงสาบ สัตว์เลี้ยง สปอร์เชื้อรา เกสร วัชพืช น้ำหอม สารเคมี ควันจากท่อไอเสีย อากาศที่ร้อนจัด/เย็นจัด เป็นต้น
2. การใช้ยารักษาชนิดสูดร่วมกับยาขยายหลอดลม ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ และควรใช้ยา อย่างสม่ำเสมอ ตามคำแนะนำของแพทย์อย่างถูกต้อง
3. ถ้าโรคหอบหืดมีอาการรุนแรง และเป็นบ่อย ควรใช้เครื่องวัดการทำงานของปอดเป็นประจำ เพื่อช่วยตัดสินใจปรับการรักษาได้รวดเร็ว และแก้ปัญหา
4. ถ้าเป็นผู้ป่วยโรคหอบหืดอยู่แล้ว ควรปฏิบัติตนตามคำแนะนำต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมอาการของโรคให้สงบลง ยกระดับสมรรถภาพการทำงานปอดจากโรคที่เป็นอยู่ ป้องกันหรือลดการเสียชีวิตจากโรคหอบหืด ส่งผลให้มีสุขภาพแข็งแรง
อ้างอิง : 1. กรมการแพทย์ 2. rama.mahidol 3. yanhee 4. BNH Hospital 5. samrong-hosp