หนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังทวีความรุนแรงที่รุนแรงมากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยในพื้นที่เมืองใหญ่ และหัวเมืองทางภาคเหนือ นั่นก็คือ ปัญหาฝุ่นPM 2.5 แม้ว่าจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น แต่ปัญหาฝุ่นPM 2.5 ก็ยังดูจะไม่มีทีท่าว่าจะบรรเทาลง และยังกลับมาคอยสร้างปัญหาทางด้านสุขภาพให้แก่คนไทยอยู่เป็นประจำ ซึ่งบทความนี้จึงขอรวบรวมเอาข้อเท็จจริง และแนวคิดสำคัญสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนมาฝาก
ปัญหาฝุ่นPM 2.5 มาจากฝีมือใคร ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ หรือฝีมือมนุษย์
หากจะค้นคว้าสืบสาวถึงต้นกำเนิดของ ปัญหาฝุ่นPM 2.5 อาจแบ่งแยกได้เป็นสองส่วนสำคัญ นั่นก็คือ ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ และปัจจัยที่มนุษย์สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อควบคุมหยุดยั้งปัญหาเหล่านั้น แล้วปัจจัยต่าง ๆ ส่งผลมากน้อยอย่างไรต่อปัญหาฝุ่น PM2.5 ในเวลานี้ เราจึงอยากชวนทุกท่านมาย้อนดูการศึกษาถึงข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ไปพร้อม ๆ กัน
มาเริ่มต้นกันด้วยข้อเท็จจริง ปัจจัยซึ่งเราควบคุมไม่ได้ เป็นอันดับแรก ซึ่งได้แก่ สภาพภูมิประเทศ และสภาพทางอุตุนิยมวิทยา ที่เป็นตัวสนับสนุนการสะสมตัวของฝุ่น ยกตัวอย่างเช่นสภาพอากาศในบางช่วงฤดูกาลอย่างช่วงฤดูหนาว ความกดอากาศสูง หรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมตอนบนของประเทศ ซึ่งในบางช่วงความกดอากาศสูงนี้ จะมีกำลังอ่อนลง ทำให้เกิดสภาวะอากาศที่เรียกว่า ‘ลมสงบ’ ทำให้ฝุ่น หรือละอองต่าง ๆ ในอากาศมีการเคลื่อนตัวน้อย
ประกอบกับสภาวะการผกผันกลับของอุณหภูมิ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Temperature Inversion อันหมายถึง การมีชั้นอากาศที่อุ่นกว่ามาแทรกอยู่ตรงกลางระหว่างชั้นอากาศ การแทรกของชั้นอากาศอุ่นในรูปแบบนี้ทำให้ฝุ่นควันไม่สามารถลอยผ่านชั้นอากาศอุ่นนี้ขึ้นไปได้ ทำให้ค่าความสูงของชั้นบรรยากาศที่อยู่ใกล้ผิวโลกที่เรียกกันว่า Planetary Boundary Layer (PBL) ถูกกดให้ต่ำลงด้วย ซึ่งจากสภาวะอากาศตามธรรมชาติ และต่างฤดูเช่นนี้ ได้เป็นตัวกระตุ้นเร่งเร้าให้เกิดการสะสมของค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศหรือที่เราเรียกกันว่า ฝุ่น PM 2.5 นั่นเอง ซึ่งมักจะพบเห็นบ่อยในช่วงปลายปีถึงต้นปี
ส่วนปัจจัยอีกประเภทหนึ่งนั่นก็คือ ปัจจัยที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของมนุษย์ และสามารถปรับเปลี่ยนเพื่อลดทอนปัญหาการสะสมของค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศได้
ซึ่งจากผลการศึกษาแสดงให้เห็นข้อเท็จจริงอันน่าสนใจว่า อันดับ 1 ของปัญหามาจากไอเสียจากเครื่องยนต์รถดีเซล ถึงกว่า 55% โดยการศึกษาค้นคว้ายังพบว่า ปัญหาการจราจรติดขัด ทำให้รถยนต์เคลื่อนตัวได้ช้าสลับกับการหยุดนิ่งนั้น ก็สามารถก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ได้ทั้งสิ้นเพราะทุกครั้งที่มีการเหยียบเบรกจะเกิดการเสียดสีก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กตามมา
จากโรงงานอุตสาหกรรม 15% จากการเผาไหม้ในที่โล่งแจ้ง 14% จากฝุ่นละอองทั่วไป และงานก่อสร้าง 9% จากฝุ่นข้ามพรมแดน 6% ฝุ่นจากดินและถนน 1%
หนทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ต้องแก้ให้ตรงจุด และเริ่มต้นที่ตัวเรา
การแก้ไขปัญหาเรื่องมลพิษ ฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 ควรมองให้ถึงต้นตอของปัญหารวมถึงการแก้ปัญหาให้ตรงจุด โดยการให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของมนุษย์ รวมถึงการวางแผนด้านนโยบายในการควบคุมจากผู้ที่มีอำนาจเกี่ยวข้อง ดังจะเห็นได้จากแนวทางดังต่อไปนี้
1. เปลี่ยนรถขนส่งให้เป็นระบบพลังงานไฟฟ้า
อย่างที่ได้ทราบกันแล้วว่าสาเหตุสำคัญที่มาจากปัจจัยที่ควบคุมได้ นั่นคือการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ดีเซล ฉะนั้นหนทางแก้ไขอย่างยั่งยืนประการแรก ควรเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงเป็นพลังงงานมาเป็นการใช้พลังงานไฟฟ้า
ยกตัวอย่างในประเทศจีนที่มีการออกนโยบายใช้พลังงานสะอาด ได้แก่ พลังงานไฟฟ้า แทนพลังงานเดิม โดยสนับสนุนให้ประชาชนใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งรัฐบาลก็ได้สร้างจุดชาร์จแบตอย่างเพียงพอเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
นอกจากนั้นแล้ว ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะก็ถูกสนับสนุนให้มีการปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้าเช่นกัน อย่างรถเมล์ไฟฟ้า และแท็กซี่ไฟฟ้า ซึ่งจากนโยบายที่เข้มงวดกับการควบคุมรวมถึงการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกไว้รองรับประชาชน ทำให้ประเทศจีนสามารถลดปริมาณค่าฝุ่น PM 2.5 ลงได้มาก จนกลายเป็นกรณีศึกษาให้ประเทศอื่น ๆ ได้เรียนรู้ตาม
2. เปลี่ยนน้ำมันรถยนต์เปลี่ยนจากมาตรฐานยูโร 4 เป็นยูโร 5 และ 6
ต้นตอใหญ่ PM2.5 ในแถบทวีปยุโรป มาจากเครื่องยนต์ดีเซลส่วนใหญ่ แถมยังมีรายงานจากองค์การอนามัยโลก ที่ระบุว่า มลภาวะทางอากาศนอกอาคาร (outdoor pollution) เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากถึง 3 ล้านคน
โดยประเทศในทวีปยุโรป เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี มีค่า PM2.5 เกินเกณฑ์กำหนดของ WHO ซึ่งสาเหตุเกิดจากหลาย ๆ ประเทศในยุโรปที่ผ่านมามักสนับสนุนการใช้รถยนต์ดีเซล ซึ่งตรงข้ามกับประเทศแถบอเมริกาที่แทบไม่มีการใช้รถยนต์ดีเซล เป็นผลให้ค่า PM2.5 อยู่ในเกณฑ์กำหนดของ WHO และแน่นอนว่าการจะยกเลิกการใช้รถยนต์เชื้อเพลิงดีเซลคงไม่ใช่เรื่องง่าย
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม รัฐบาลของหลายประเทศทั่วโลกก็กำลังดำเนินการออกกฎข้อบังคับให้ รถยนต์เปลี่ยนมาตรฐานเดิมที่เคยใช้ในระดับยูโร 4 ให้เป็นระดับยูโร 5 ที่เพิ่มความเข้มงวดของการปล่อยฝุ่นละอองจากเครื่องยนต์ดีเซลเป็นอย่างมาก โดยรถยนต์ดีเซลทุกคันต้องติดตั้งตัวกรองฝุ่นละออง และ 6 ที่มีการกำหนดให้ลดการปล่อย NOx อย่างมีนัยสำคัญจากเครื่องยนต์ดีเซล (ลดลง 67% เมื่อเทียบกับ Euro 5) ทดแทนเชื้อเพลิงรุ่นก่อน ๆ ที่ไม่ได้เน้นเรื่องการจำกัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก
3. ส่งเสริมการเดินทางไร้เครื่องยนต์
หลักการนี้คนส่วนใหญ่มักนึกถึงการใช้จักรยานแทนการขับรถยนต์ในเมืองใหญ่ที่มักคุ้นชินตาในเมืองหลวงอย่าง ปักกิ่ง หรือ อัมสเตอร์ดัม แต่แท้จริงแล้วจุดมุ่งหมายของการ ส่งเสริมการเดินทางไร้เครื่องยนต์ นั่นยังเป็นการสร้างระบบ NON-MOTORIZED TRANSPORTATION (NMT) ที่สามารถใช้งานได้ และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน จนทำให้มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เดินทางโดยไม่ใช้เครื่องยนต์ได้อย่างถาวร ดังที่หลาย ๆ เมืองในประเทศพัฒนาได้มีการวางแผนระบบการเดินทางในเมืองของตนเองให้เอื้ออำนวยต่อการเดินทางโดยปราศจากเครื่องยนต์ ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งป้ายบอกทางสัญลักษณ์บนทางเท้าให้ชัดเจน ก่อสร้างหลังคาคลุมทางเท้า ปรับปรุงผิวทางเดินเท้าเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกแก่การเดินสัญจร เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับจักรยาน และเพิ่มจุดจอดสำหรับจักรยาน รวมถึงจัดสร้างทางโดยสารสำหรับจักรยาน และยานพาหนะไร้เครื่องยนต์โดยเฉพาะ เป็นต้น
4. จัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมเก็บค่าธรรมเนียมสิ่งแวดล้อมตามหลักการ POLLUTER PAYS PRINCIPLE (PPP)
เป็นการให้ความสำคัญกับการนำต้นทุนที่เกิดจากการก่อมลพิษทางสิ่งแวดล้อมมาเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการผลิตสินค้าหรือการบริการ โดยมุ่งหวังให้ผู้ประกอบการได้เห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อม และลดการใช้สิ่งต่าง ๆ อย่างฟุ่มเฟือยไร้คุณค่าอีกต่อไป
โดยหนึ่งในแนวคิดที่จะช่วยขับเคลื่อนหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย ได้แก่ การพัฒนาระบบการซื้อขายคาร์บอนที่เป็นทางการ ระบบการซื้อขายคาร์บอนเป็นการกำหนดมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ปริมาณคาร์บอนที่ปลดปล่อย โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น การคมนาคม การผลิตภาคอุตสาหกรรม การเกษตร ระบบการซื้อขายคาร์บอนจึงเป็นกลไกตลาดที่สำคัญในการสร้างแรงจูงใจ และสนับสนุนให้ชุมชน และผู้ผลิตหาแนวทางหรือเทคโนโลยีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
ที่สำคัญทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา จำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา เพื่อส่งมอบทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณภาพเทียบเท่าหรือดีกว่าให้ประชากรรุ่นต่อไป
5. สร้างผังเมืองแบบบูรณาการจัดผังเมืองร่วมกับการลดมลพิษทางอากาศ
และประการสุดท้าย คงไม่มีหนทางใดที่ดีไปกว่าการคืนพื้นที่ให้กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การสร้างระบบนิเวศที่สมดุลให้กับชุมชน โดยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อทำหน้าที่เป็นเครื่องฟอกอากาศตามธรรมชาติให้กับพวกเราทุกคน ดังที่หลายประเทศได้ให้ความสำคัญและได้ดำเนินการมาอย่างยาวนานนับสิบปี ดังเช่นที่ประเทศจีนได้มีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองใหญ่ๆ อย่างปักกิ่ง ทำให้พื้นที่สีเขียวในปักกิ่งที่เพิ่มขึ้นจนถึงปัจจุบัน เกินกว่า 50% ของพื้นที่กรุงปักกิ่งเรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ยังกำหนดมาตรการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศด้วยการเปลี่ยนจากการใช้พลังงานถ่านหิน มาใช้พลังงานอื่นที่สะอาดกว่าตามที่พักอาศัย โดยเฉพาะในย่านตัวเมือง จะไม่ให้มีการเผาถ่านหินอีกต่อไป ซึ่งจากความพยายามที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ทำให้ล่าสุดกรุงปักกิ่งมีค่า PM 2.5 ลดต่ำลงเป็นประวัติการณ์ แถมนโยบายที่ถูกใช้ส่วนใหญ่ เป็นการลงทุนแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ เพื่อผลลัพธ์ที่ยั่งยืนถาวรอีกด้วย
และทั้งหมดนี้ก็เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ ปัญหาฝุ่นPM 2.5 ที่หลายคนอาจไม่เคยทราบ พร้อมกุญแจสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนที่ คงไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่หากพวกเราทุกคนไม่เริ่มที่จะปรับเปลี่ยนเสียแต่วันนี้ดังเช่นที่เห็นในตัวอย่างประเทศต่างๆ ที่ยกมา ปัญหาฝุ่น PM2.5 คงจะไม่มีทางลดหายไปไหน และเราคงต้องทนอยู่กับปัญหาด้วยความขื่นขมระทมต่อไป