แม้ว่าดวงอาทิตย์จะอยู่ห่างจากโลกถึง 150 ล้านกิโลเมตร แต่แสงแดดจากดวงอาทิตย์เหมือนอยู่ใกล้เราแค่คืบเดียวเท่านั้นเอง!! ผิวหนังที่ต้องเผชิญกับแสงแดดบ่อย ๆ นอกจากจะทำให้ผิวดำคล้ำแล้ว ก็อาจทำให้เป็น โรคแพ้แสงแดด (Photodermatoses) ได้ด้วย งั้นวันนี้เรามาทำความรู้จักสาเหตุ อาการ วิธีรักษา และป้องกันโรคแพ้แสงแดด กันเลยดีกว่า
- 12 วิธีคลายร้อน รับซัมเมอร์สุดHOT !! รู้แล้วต้องแชร์ ให้หายร้อนไปพร้อมกัน
- อากาศร้อนให้ระวัง! โรคเซ็บเดิร์ม ผื่นหนา ผิวแห้ง คัน : สาเหตุ อาการ วิธีรักษา
- โรคแพ้เหงื่อตัวเอง สาเหตุ อาการ วิธีดูแลรักษา
โรคแพ้แสงแดด (Photodermatoses) คืออะไร ?
นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ และโฆษกกรมการแพทย์ กล่าวว่า
” โรคแพ้แสงแดด เป็นโรคที่เกิดผื่นผิวหนังอักเสบจากการโดนแสงแดด ส่วนใหญ่เกิดในผู้ชายสูงอายุถึงร้อยละ 90 สาเหตุของโรคยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าเป็นอาการที่เกิดจากการถูกกระตุ้นด้วยแสงแดด จะมีผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณที่ถูกแสงแดด และมักจะรุนแรง เรื้อรัง ”
นายแพทย์มานัส กล่าวต่อว่า โรคแพ้แสงแดด เกิดได้จาก 2 ปัจจัย ได้แก่
- ผิวหนังเกิดการสะสมของการใช้เครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดสำหรับผิวหนังมาเป็นระยะเวลานานพอสมควร เมื่อออกไปโดนแสงแดดทำให้เกิดอาการแพ้แสงแดด
- ยาที่ใช้ รักษาโรคทั่ว ๆ ไป เช่น ยาเบาหวาน เป็นต้น
ทั้งนี้แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ยังได้กล่าวเช่นเดียวกันว่า
“โรคแพ้แสงแดดส่วนใหญ่เกิดจากการสะสมของสารบางอย่างจากการใช้เครื่องสำอาง และการกินยาบางอย่าง เช่น ยาเบาหวาน ยาขับปัสสาวะ ยารักษาเชื้อรา และยากลุ่มซัลฟา ในกรณีที่แพ้ยาชนิดใดชนิดหนึ่ง แสงแดดจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการมากขึ้น หลังจากกินยาภายใน 7 วัน
ถ้ามีอาการแพ้ยา และแพ้แดดจะมีผื่นแดง ตกสะเก็ด อาจมีน้ำเหลืองไหลในบางราย และมีอาการคันมาก ควรสังเกต และหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการแล้วหลีกเลี่ยง โดยการหยุดยา หรือเปลี่ยนเครื่องสำอางที่เคยใช้ อาการดังกล่าวจะค่อย ๆ ดีขึ้นจนหายไปเอง”
โรคแพ้แสงแดดสามารถแบ่งออกได้ 4 กลุ่ม
1. กลุ่มเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน เช่น โรคผิวหนังแพ้แดดเรื้อรัง (Chronic actinic dermatitis) และโรคลมพิษจากแสงแดด (Solar urticaria)
2. กลุ่มที่เกิดจากยา และสารเคมี ทำให้เกิดภาวะไวต่อแสงแดด มักพบในผู้ป่วยที่ได้ยารับประทาน หรือยาทาบางชนิด ร่วมกับมีการโดนแสงแดด และเกิดผื่นบริเวณนอกร่มผ้า
3. กลุ่มที่เกิดจากความผิดปกติของยีนที่ทำให้ไวต่อแสงแดด มักพบในเด็ก เช่น โรค Xeroderma pigmentosum
4. กลุ่มที่มีโรคผิวหนังเดิม แต่ถูกทำให้กำเริบมากขึ้นจากแสงแดด เช่น โรคเอสแอลอี
อาการเริ่มแรกของโรคแพ้แสงแดด
แพทย์หญิงมิ่งขวัญ กล่าวถึงอาการเริ่มแรกของโรคแพ้แสงแดดไว้ว่า…
- ผู้ป่วยจะคันบริเวณผิวหนังที่โดนแสงแดด
- มีผื่นแดงเฉพาะบริเวณนอกร่มผ้า ได้แก่ ใบหน้า หน้าผาก โหนกแก้ม คอ หน้าอก แขนด้านข้าง ขาส่วนนอกกางเกง หลังเท้า
- ถ้าอาการกำเริบมากขึ้นจะมีผื่นนูน คัน ตั้งแต่ศีรษะจนไปถึงข้อเท้า
- ผิวหนังมีอาการคล้ายผิวคางคก และบางทีมีน้ำเหลืองร่วมด้วย ซึ่งร่างกายจะแสดงอาการเมื่อผิวหนังโดนแสงแดดเป็นเวลานาน
ผื่นลักษณะใดที่จะสงสัยว่าจะเป็น โรคแพ้แสงแดด
ผื่นมีได้หลายลักษณะ เช่น ตุ่มนูนแดงคัน ผื่นนูนหนา หรือบางครั้งอาจเป็นตุ่มน้ำ มักจะขึ้นบริเวณนอกร่มผ้าที่สัมผัสกับแสงแดด เช่น หน้า, คอส่วนล่าง, ใบหู, แขนและขาด้านนอก, หลังมือ และหลังเท้า
ส่วนบริเวณที่ไม่ค่อยเกิดปัญหาเนื่องจากไม่ค่อยสัมผัสแดด คือ รอบหนังตา, หลังหู, ใต้คาง, ต้นแขนด้านใน, ลำตัว เป็นต้น
- ผื่นคัน ผิวหนังอักเสบ แก้ได้ด้วย 9 วิธีนี้ คันแค่ไหนก็เอาอยู่!
- โรค “แพ้เหงื่อตัวเอง” สาเหตุ อาการ วิธีดูแลรักษา
- ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ดูแลรักษายังไงดี ?
อาการ หรือโรคผิวหนัง ที่เกิดจากแสงแดด
– ผิวไหม้แดด หรือ Sunburn ส่วนใหญ่เกิดจากรังสี UVB ทำให้ผิวมีสีแดง เจ็บ และพุพอง อาจไม่เกิดอาการขึ้นทันที และอาจใช้เวลาถึง 5 ชั่วโมงก่อนมีอาการ สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ผ้าเย็น หรือผลิตภัณฑ์ที่เย็น ประคบไว้ลดอาการปวด และบรรเทาการอักเสบ
– สิวผด เกิดขึ้นเมื่อรังสียูวี รวมกับส่วนผสมบางอย่างในเครื่องสำอาง หรือครีมกันแดด เช่น emulsifiers ก่อให้เกิดการระคายเคือง และการอักเสบของไขมันบริเวณรูขุมขน มีโอกาสเกิดขึ้น 1-2% และพบมากสุดในกลุ่มวัยรุ่น ถึงวัยผู้ใหญ่ที่มีอายุระหว่าง 25-40 ปี
– ริ้วรอยก่อนวัย ฝ้า กระ จุดด่างดำจากอายุ หลอดเลือดดำที่เหมือนใยแมงมุม บนใบหน้า
– มะเร็งผิวหนัง มะเร็งผิวหนังมีได้หลายชนิด สามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
1. มะเร็งผิวหนังชนิดไม่ใช่เมลาโนมา ซึ่งพบได้มากที่สุด มีลักษณะเป็นก้อนเนื้อนูนสีเดียวกับผิวหนัง หรือชมพูใส ผิวมัน แผลตรงกลางมีขอบยกนูนโตช้า บางครั้งอาจมีสีดำคล้ายไฝ มักเกิดบริเวณที่ได้รับแสงแดด หรือนอกร่มผ้า
2. มะเร็งผิวหนัง Melanoma ซึ่งพบได้น้อยที่สุด แต่เป็นอันตราย เนื่องจากแพร่กระจายได้มากที่สุด เกิดจากการที่เซลล์เม็ดสีมีการแบ่งตัวเพิ่มขึ้นผิดปกติ อาจลุกลามไปจุดสำคัญ เช่น สมอง ได้
– ยา และสารเคมีที่กระตุ้นให้ไวต่อแสง เกิดได้จากทั้งยาชนิดรับประทาน ยาใช้ทาภายนอก และเครื่องสำอาง สามารถทำให้เกิดปฏิกิริยาไวต่อแสงได้ รวมถึงยาต้านการอักเสบหรือยาแก้ปวดบางตัว เช่น ibuprofen ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาขับปัสสาวะ ยากลุ่มสแตนติน ยากลุ่มเรตินอยด์ และยาฆ่าเชื้อรา เป็นต้น
– ภูมิแพ้แสงแดด หรือ อาการแพ้แดดไม่ทราบสาเหตุ พบได้มากที่สุดของในกลุ่มอาการแพ้แสงแดด คิดเป็นประมาณ 90% ของผู้ปวยทั้งหมดที่แพ้แสงแดด
การวินิจฉัย โรคแพ้แสงแดด
แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ร่วมกับการทำทดสอบแสง (Phototesting) ที่เรียกว่าการวัด Minimal erythema dose (MED) โดยทำการฉายแสงแดดเทียมปริมาณต่าง ๆ บนบริเวณผิวหนังที่ไม่มีรอยโรค เช่น หลังส่วนล่าง หรือก้น เพื่อสังเกตดูว่า ผู้ป่วยมีรอยแดงบริเวณที่ทำการทดสอบหรือไม่
ในผู้ป่วยที่ผลการทำทดสอบแสงอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่แพทย์ยังสงสัยโรคแพ้แสงแดด แพทย์จะทำการทดสอบแสงขั้นต่อไป คือการฉายแสงซ้ำ เฉพาะที่ (Photoprovocation test) ติดต่อกัน 2-3 วัน เพื่อสังเกตดูว่ามีรอยโรคเกิดขึ้นบริเวณที่ทำการฉายแสงหรือไม่ หรืออาจต้องทำการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจเพิ่มเติมในผู้ป่วยบางราย
ในกรณีที่สงสัยว่าสารสัมผัสเป็นสาเหตุให้เกิดการแพ้แสง แพทย์จะส่งทำทดสอบผื่นแพ้สัมผัสร่วมด้วย (Photopatch test) เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรค
แพทย์แนะ! 8 วิธีป้องกัน และข้อควรปฏิบัติให้ห่างไกลจาก โรคแพ้แสงแดด
สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ แนะวิธีป้องกันอันตรายจากแสงแดด เมื่อเข้าสู่หน้าร้อนอุณหภูมิที่พุ่งสูง พร้อมกับแสงแดดที่แผดเผาในทุก ๆ วัน ทำให้เกิดปัญหาผิวหนังแดงไหม้ ผิวคล้ำ หรืออาจก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนัง จึงจำเป็นต้องป้องกันแสงแดดด้วยวิธีต่างๆ เพื่อสุขภาพผิวที่ดี ดังนี้
1. เลี่ยงช่วงเวลาแดดจัด ตั้งแต่เวลา 10.00-15.00 น. – หากมีความจำเป็นต้องออกแดด ควรใส่เสื้อแขนยาว กางร่ม / ใส่หมวกปีกกว้าง
2. ทาครีมกันแดดเป็นประจำสม่ำเสมอ – เพราะใต้ร่มไม้หรือชายคาบ้าน มีโอกาสได้รับรังสี UV เหมือนกับเวลาที่อยู่กลางแดด เนื่องจากพื้นคอนกรีต พื้นน้ำ พื้นทราย สามารถสะท้อนรังสี UV เข้าสู่ผิวกายได้
ทั้งนี้การทาครีมกันแดดควรเริ่มทาอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่เรียนว่ายน้ำ หรือเล่นกีฬากลางแจ้ง เพราะแสงอัลตราไวโอเลตจะมีผลเสียต่อผิวหนังแบบสะสม ดังนั้นการทาครีมกันแดดจึงเป็นเกราะป้องกันผิวหนังที่ดี
3. ควรเลือกใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 ขึ้นไป – ที่สำคัญต้องเลือกครีมกันแดดที่สามารถป้องกัน UVAได้ โดยต้องมีส่วนผสมของสารกันแดด หรือสารกันแดดที่สะท้อนแสง ซึ่งทาแล้วอาจจะทำให้หน้าขาวบ้าง แต่ข้อดีคือ ไม่มีอาการระคายเคือง และไม่แพ้
4. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำมาก ๆ – รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และหลากหลาย โดยเฉพาะผัก และผลไม้ ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว
5. ไม่เครียด พักผ่อนให้เพียงพอ
6. หลีกเลี่ยงสถานที่มีมลพิษ
7. ไม่ใช้สารเสพติด ไม่สูบบุหรี่
8. หากมีอาการผิดปกติทางผิวหนัง ควรรีบพบแพทย์ – หากมีอาการผิวบวมแดง ปวดแสบร้อนบริเวณผิวหนัง สีผิวคล้ำมากขึ้น ผิวหนา หรือขรุขระมากขึ้น กดผิวแล้วเจ็บ ผิดปกติ หรือมีอาการชาที่ผิว ให้ปรึกษาแพทย์ผิวหนังโดยตรง
อ้างอิง :
1. กระทรวงสาธารณสุข 2. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 3. กรมการแพทย์