โรคภูมิแพ้อากาศ คือโรคภูมิแพ้ที่คนเป็นกันมาก ไม่ว่าจะฤดูไหน เมื่อมีอาการหายใจครืดคราด ไอจาม คันจมูก อาจเป็นสัญญาณเตือนว่ากำลังมีอาการของโรคภูมิแพ้อากาศเข้าแล้ว! มาดูกันว่า โรคภูมิแพ้อากาศ (ภูมิแพ้จมูก) มีปัจจัยกระตุ้นอะไรบ้าง และวิธีรักษาให้อาการดีขึ้น
โรคภูมิแพ้อากาศ คืออะไร ?
ภูมิแพ้อากาศ หรือ โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis) เป็นอาการที่เกิดขึ้น เมื่อหายใจเอาสิ่งที่กระตุ้นให้แพ้ เช่น ฝุ่น ไรฝุ่น ขนสัตว์ เข้าไปในร่างกายจนเกิดปฏิกิริยาขึ้นที่จมูก ซึ่งเป็นทางเดินหายใจส่วนต้น หรืออาจเกิดจากอากาศเปลี่ยน โดยเฉพาะในฤดูฝน กับ ฤดูหนาว หรือหลังอาบน้ำใหม่ ๆ บางคนก็จะมีอาการน้ำมูกใส ๆ ไหลออกมา ไอ จาม มีเสมหะในลำคอ เป็นต้น เพราะสิ่งที่กระตุ้นให้แพ้มักอยู่ในอากาศนั่นเอง
โรคภูมิแพ้อากาศ (ภูมิแพ้จมูก) มีปัจจัยกระตุ้นอะไรบ้าง?
- พันธุกรรม (heredity) คนที่เป็นโรคภูมิแพ้ จะมีความผิดปกติของ Immune Response Gene (IR-gene) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย และยีนส์ที่ผิดปกตินี้ สามารถถ่ายทอดไปยังลูก หลานได้
- สารก่อภูมิแพ้ (Allergen) ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภูมิแพ้ โดยสารก่อภูมิแพ้ที่พบได้บ่อย คือ สารก่อภูมิแพ้ที่อยู่ในอากาศ (Aeroallergen) และเข้าสู่ร่างกายโดยการหายใจ เช่น ฝุ่นบ้าน ไรฝุ่น เกสรดอกไม้ เชื้อรา
- ปัจจัยกระตุ้นอื่น ๆ เป็นสาเหตุ ที่ทำให้มีอาการมากขึ้น เช่น สารเคมี กลิ่นฉุน กลิ่นบุหรี่ น้ำหอม อากาศเย็น อากาศเปลี่ยน หรือแม้แต่ ความเครียด วิตกกังวลต่าง ๆ ก็ทำให้เกิดภูมิแพ้ขึ้นได้
อาการของ ภูมิแพ้อากาศ
– คันในจมูก หรืออาจคันไปถึงในคอ
– มีอาการคันตา หรืออาจคันไปถึงหูด้วย
– จามบ่อย จามไม่หยุด และอาจมีอาการไอร่วมด้วย
– มีน้ำมูกใส ๆ
– มีอาการแน่นจมูก หรือหายใจทางจมูกไม่สะดวก
– มีอาการหูอื้อ
– มีน้ำมูกไหลลงคอ มีเสียงดังในหู
วิธีป้องกัน และรักษา โรคภูมิแพ้อากาศ
1. เป็นภูมิแพ้ ควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ เป็นที่วิธีการป้องกัน และรักษาที่ดีที่สุด โดยหากรู้ว่าแพ้อะไร ควรปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อม กำจัดสารก่อภูมิแพ้ที่อยู่รอบ ๆ ตัวให้มากที่สุด
โดยเฉพาะสารก่อภูมิแพ้ในบ้าน เช่น กำจัดไรฝุ่น โดยทำความสะอาดผ้าปูที่นอน เครื่องนอน เป็นประจำด้วยความร้อน ซักน้ำร้อน ตากแดด ไม่เลี้ยงสัตว์ที่มีขน หากแพ้ขนสัตว์ ระวังควันบุหรี่ สารเคมี หรือ ฤดูกาลที่มีเกสรดอกไม้ ละอองหญ้า ก็ควรปิดบ้าน ปิดหน้าต่างให้มิดชิด ใช้เครื่องกรองอากาศ
2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายอย่างถูกต้อง และสม่ำเสมอ จะช่วยให้ภูมิคุ้มกันของเราทำงานได้อย่างปกติ ซ่อมแซมภูมิคุ้มกันที่บกพร่องให้กลับมาแข็งแรง ควรออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 – 4 ครั้ง ครั้งละ 30 นาทีขึ้นไป
3. ใช้ยาบรรเทาอาการภูมิแพ้ หากไม่สามารถเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ได้ จนมีอาการแพ้ จำเป็นต้องใช้ยาแก้แพ้ หรือ ยาบรรเทาอาการภูมิแพ้ ควรเลือกยาแก้แพ้ที่ปลอดภัย เช่น ยาต้านฮีสตามีน (Antihistamine) ในกลุ่มที่ไม่มีอาการข้างเคียง ไม่ทำให้ง่วง ซึ่งมีความปลอดภัย เช่น ยาแก้แพ้ ลอราทาดีน (Loratadine) ที่สามารถซื้อใช้เองได้ ใช้บรรเทาอาการจากการแพ้ ใช้เมื่อรู้สึก คัน ระคายเคืองจากการแพ้
4. การฉีดวัคซีนรักษาภูมิแพ้ เป็นการรักษาที่ตรงจุด โดยจำเป็นต้องทำการทดสอบเพื่อหาสิ่งที่แพ้ก่อน การฉีดวัคซีนรักษาภูมิแพ้นั้น เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการมาก มีผลกับการใช้ชีวิตประจำวัน หรือแพ้สิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ หรือรักษาด้วยยาแล้วไม่ได้ผล
ซึ่งการฉีดวัคซีนจะฉีดสารก่อภูมิแพ้ที่เราแพ้เข้าสู่ร่างกายทีละน้อย ๆ ซึ่งต้องใช้เวลาหลายเดือน หรือ อาจจะเป็นปี เพื่อกระตุ้นภูมิต้านทานให้กับร่างกาย ซึ่งหากมาฉีดวัคซีนอย่างสม่ำเสมอ อากาจะดีขึ้นได้ถึง 70-90% แต่ก็อาจมีผลข้างเคียง เช่น ทำให้เกิดการแพ้ทั่วร่างกาย และต้องใช้เวลานานในการรักษา
5. ผ่าตัดรักษา เป็นการผ่าตัด เพื่อรักษาอาการบางอย่าง เช่น อาการคัดจมูก หรือ น้ำมูกไหล ซึ่งรักษาโดยการใช้ยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น จนแพทย์ต้องพิจารณาเพื่อทำการผ่าตัด แต่หากมีอาการแพ้บริเวณอื่น ๆ ก็ยังอาจทำให้เกิดอาการได้อยู่
ภาวะแทรกซ้อนของ ภูมิแพ้อากาศ
หากอาการแสดงออกมามาก และไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นได้ เช่น
– การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน (Upper respiratory tract infection) เช่น โรคไซนัสอักเสบ ผนังคออักเสบเรื้อรัง เป็นต้น
– โรคหอบหืด (Asthma) มีการศึกษาว่า จมูกอับเสบภูมิแพ้ กับ หอบหืด เป็นโรคที่พบร่วมกันได้บ่อย ซึ่งหากอาการทางจมูกแย่ลง ก็จะทำให้อาการหอบหืดเป็นมากขึ้นด้วย
– เยื่อบุจมูกอักเสบเรื้อรัง (Nasal polyposis) ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิด ริดสีดวงจมูก ได้
ดังนั้นถ้ารักษา ภูมิแพ้อากาศ หรือ ภูมิแพ้จมูกอักเสบได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ควรรีบรักษา เลือกใช้ยาแก้แพ้ที่ปลอดภัย อย่าปล่อยไว้นาน จนมีอาการหนัก หรือจนเกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งทำให้ดูแลรักษาได้ยากขึ้น
อ้างอิง : www.rcot.org www.doctor.or.th www.si.mahidol.ac.th