หน้าร้อนต้องระวัง ทำผิวพังไม่รู้ตัว! เพราะโลกเรายิ่งนานไป จะยิ่งร้อนขึ้นทุกวัน ยิ่งในประเทศไทยนั้น ต้องบอกว่า “ร้อนทะลุปรอท” ไปแล้ว! และยิ่งร้อนเท่าไหร่ ยิ่งต้องระวังโรคผิวหนังกันให้ดี โดยเฉพาะ “6 โรคผิวหนังในหน้าร้อน” ที่หลายคนมักเป็นกันแบบไม่ทันตั้งตัว มาดูกันว่าจะมีโรคอะไรบ้าง พร้อมวิธีดูแลผิวหนังตามคำแนะนำจากกรมการแพทย์
- 4 โรคภูมิแพ้ผิวหนังที่พบบ่อย มีอะไรบ้าง แตกต่างกันยังไง?
- อากาศร้อนให้ระวัง! โรคเซ็บเดิร์ม
- 12 วิธีคลายร้อน รับซัมเมอร์สุดHOT !!
แสงแดด ทำให้เกิดโรคผิวหนังได้อย่างไร?
แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ได้อธิบายเรื่องแสงแดด และ โรคผิวหนังในหน้าร้อน ไว้ดังนี้
“โรคผิวหนังที่อาจมากับแสงแดด ได้แก่ โรคผื่น คัน แดง เกิดจากความร้อนกระตุ้นให้ต่อมเหงื่อในร่างกายขับเหงื่อออกมาอย่างรวดเร็ว เกิดการอุดตันบริเวณต่อมเหงื่อ ทำให้เกิด ผด ผื่น คัน มีผื่นแดงตามผิวหนัง โรคติดเชื้อ เช่น โรคกลาก มักเกิดในช่วงอากาศร้อน หรือใส่เสื้อผ้าอับชื้นเป็นเวลานานทำให้เกิดการติดเชื้อตามร่างกายบริเวณที่อับชื้น เช่น รักแร้ ขาหนีบ โรคมะเร็งผิวหนัง
สาเหตุสำคัญเกิดจากการถูกแสงแดดมากโดยเฉพาะผู้ที่มีผิวขาวจะไวต่อการไหม้จากแสงแดดได้ง่าย การได้รับแสงเอกซเรย์ในปริมาณสูงเกิดแผลเป็นเรื้อรังจากรอยไหม้ ได้รับสารหนู หรือสารก่อมะเร็งในปริมาณสูง และผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งผิวหนัง
ผู้ป่วยที่มีอาการมากจะเกิดผื่นนูน คันทั้งตัว อาจอักเสบมีน้ำเหลืองไหลและคันมาก โดนแสงแดดไม่ได้จึงไม่สามารถประกอบอาชีพหรือใช้ชีวิตตามปกติที่ต้องโดนแสงแดด”
6 โรคผิวหนังในหน้าร้อน ที่ควรระวัง
1. โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง หรือโรคภูมิแพ้ผิวหนัง (Eczema / Atopic dermatitis)
โรคนี้พบบ่อยในเด็ก ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการมากขึ้นในช่วงฤดูร้อน เพราะอากาศร้อนทำให้มีเหงื่อออกมาก ทำให้เกิดอาการคัน และเกิดผื่นผิวหนังอักเสบมากขึ้นได้ โรคนี้มักเป็นเรื้อรัง อาการของโรคมักเป็น ๆ หาย ๆ ผู้ป่วยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังร้อยละ 60 จะปรากฏอาการก่อนอายุ 1 ปี ประมาณร้อยละ 85 จะปรากฏอาการก่อนอายุ 5 ปี อาการมักจะดีขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น
• อาการแสดงของโรค
ผิวหนังโดยทั่วไปของผู้ป่วยจะค่อนข้างแห้ง อาการ และอาการแสดงของโรคจะแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มอายุของผู้ป่วย ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1. วัยทารก พบระหว่างอายุ 2 เดือนถึง 2 ปี ส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการเมื่ออายุ 2 เดือนขึ้นไป โดยมักจะเริ่มพบผื่นแดงคัน มีตุ่มแดง และตุ่มน้ำเล็ก ๆ อยู่ในผื่นแดงนั้น ผื่นอาจลุกลามไปยังผิวหนังบริเวณอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ลำตัว ข้อศอก เข่า ในรายที่เป็นมาก ๆ ผื่นจะเกิดทั่วร่างกายได้
2. วัยเด็ก อายุระหว่าง 2-12 ปี ตำแหน่งรอยโรคที่พบบ่อย ได้แก่ บริเวณรอบคอ ข้อพับด้านในของแขนและขา เมื่อโรครุนแรงอาจลุกลามไปยังผิวหนังส่วนอื่น ๆ ได้ ผื่นมักประกอบด้วยตุ่มนูนแดงแห้ง ๆ มีขุยเล็กน้อย มักไม่พบตุ่มน้ำแตกแฉะเหมือนวัยทารก
3. วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ มักพบผื่นบริเวณรอบคอ ข้อพับแขน ขา คล้ายที่พบในเด็กโต ในรายที่เป็นมาก ๆ ผื่นจะเกิดทั่วร่างกายได้เช่นกัน ผู้ป่วยโรคนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดผิวหนังอักเสบบริเวณมือได้ง่าย
อ่านเพิ่มเติม -> 4 โรคภูมิแพ้ผิวหนังที่พบบ่อย มีอะไรบ้าง แตกต่างกันยังไง?
2. โรคลมพิษ (Urticaria)
คือ ผื่นคันที่เกิดขึ้นบนผิวหนัง เป็นอาการที่พบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย โดยพบมากที่สุดในช่วงอายุ 20-40 ปี แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือลมพิษเฉียบพลัน และลมพิษเรื้อรัง สาเหตุของลมพิษมีมากมาย ทั้งสภาวะอากาศ อาหาร หรือสภาวะทางอารมณ์ กรณีในหน้าร้อน ความร้อนทำให้เกิดผื่นขึ้น ผื่นมีสีแดงจัด เมื่อสัมผัสแล้วรู้สึกร้อน
• อาการแสดงของโรค
มักเกิดขึ้นเฉียบพลัน เป็นผื่นนูนล้อมรอบด้วยรอยแดง ขอบเขตชัดเจน ขนาดและรูปร่างต่างกันไป ผู้ป่วยจะรู้สึกคันมาก และหากเกาก็จะเกิดผื่นแดงมากยิ่งขึ้น ผื่นนูนแดงมักจะคงอยู่ไม่นาน โดยมากจะไม่เกิน 24 ชั่วโมง ผื่นนั้นก็จะยุบหายไปโดยไม่มีร่องรอย
อ่านเพิ่มเติม -> โรคลมพิษ คันยิก ๆ รักษายังไงดี?
3. โรคผิวหนังจากเชื้อรา (dermatophytosis)
โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรามักจะเกิดชุกชุมมากในเขตร้อนชื้น เช่น ในประเทศไทยช่วงหน้าร้อน เป็นต้น เพราะอากาศร้อนชื้นเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเชื้อรา โดยเฉพาะบริเวณที่อับชื้น หรือมีเหงื่อออกมาก
• อาการแสดงของโรค
โรคผิวหนังจากเชื้อราที่พบได้บ่อย ๆ ได้แก่ โรคเกลื้อน กลาก และแคนดิด้า โดยจะมีอาการแสดงของโรคต่างกันออกไป ดังนี้
1. โรคเกลื้อน (Tinea versicolor/Pityriasis versicolor) – เป็นจุดเล็ก ๆ มีขุยบาง ๆ จุดจะกระจัดกระจายไปทั่ว หรือ เป็นที่บริเวณรูขุม ขน ต่อมาจุดจะค่อย ๆ ขยายโตขึ้นเป็นผื่นราบ วงสี จางกว่าผิวหนังปกติ เกิดเป็นรอยด่าง (hypopigmentation) พบได้หลายสี เช่น ขาว น้ำตาล แดง ดำ
2. โรคกลาก (ring worm) – มีอาการคันมาก และอยากเกาตรงบริเวณที่เป็น รอยโรคมักจะเป็นวงนูนแดง มีขอบชัดเจน วง ขอบนี้จะประกอบด้วยจุดแดง หรือ ตุ่มแดงเล็ก เป็นตุ่มนูนแข็ง บางครั้งตุ่มนี้จะมีน้ำอยู่ข้างใน ตรงกลาง ของวงไม่แดงเท่าขอบ อาจแบนราบ และเป็นขุย
3. การติดเชื้อแคนดิด้า (Candidiasis) – มักพบตามซอก มีอาการคันหรือแสบมาก ๆ และอยากเกา มีลักษณะเป็นปื้นหรือตุ่มแดงจัด เยิ้มแฉะ บางครั้งผิวลอกขาวเป็นแผ่นออกมา อาจพบการกระจายของตุ่มน้ำได้ พบได้ในบริเวณที่อับชื่น หรือ อยู่กับน้ำ หรือผู้ที่อ้วน หรือเป็นเบาหวาน
อ่านเพิ่มเติม -> เชื้อราแมว สามารถติดต่อสู่คน ทำป่วยโรคผิวหนังได้
4. โรคเซ็บเดิร์ม (Seborrheic dermatitis)
เป็นโรคที่มีภาวะผิวหนังอักเสบจากต่อมไขมันในชั้นผิวหนัง สามารถพบได้บ่อยทั้งในหน้าร้อน และหน้าหนาว โดยหน้าร้อนต่อมไขมันบริเวณผิวหน้าจะสร้างซีบัม (sebum) หรือไขมันออกมามาก ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ผื่นเซ็บเดิร์มเกิดได้มากขึ้น โรคเซ็บเดิร์ม ถือเป็นโรคเรื้อรัง ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ไม่ใช่โรคติดต่อ
• อาการแสดงของโรค
พบได้บ่อยบริเวณผิวหนังที่มีความมัน ลื่น เช่น ใบหน้า รอบ ๆ จมูก หนังศีรษะ ใบหู ผู้ป่วยเซ็บเดิร์ม มักมีอาการผมร่วงบริเวณหนังศีรษะที่เป็นเซ็บเดิร์ม ผิวหนังตกสะเก็ด เป็นรังแคบนหนังศีรษะ เปลือกตาอักเสบ เป็นต้น
อ่านเพิ่มเติม -> โรคเซ็บเดิร์ม สาเหตุ อาการ วิธีรักษา
5. ผดร้อน (Prickly heat)
เกิดจากการอุดตันของการหลั่งเหงื่อ ยิ่งร้อนมาก ยิ่งทำให้เหงื่อออกมาก และเป็นที่มาของการเกิดผดตามผิวหนัง พบได้บ่อยในเด็กเล็ก ๆ ผู้สูงอายุ คนที่เจ้าเนื้อ หรือคนที่ต้องใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นมาก ๆ
• อาการแสดงของโรค
มีลักษณะเป็นผื่นแดงเล็กกระจายสม่ำเสมอ หรือบางครั้งจะเป็นเม็ดใส ๆ
- ผดในเด็ก มักขึ้นรอบ ๆ คอ หน้าผาก หน้าขา และรักแร้
- ผดในผู้ใหญ่ มักพบผดในบริเวณร่มผ้าที่มีการเสียดสี เช่น คอ หนังศีรษะ หน้าอก ลำตัว และข้อพับ
6. เกิดรอยด่างดำบนในหน้า (dark spots)
แสงยูวีจะกระตุ้นให้เซลล์สร้างเม็ดสีทํางานมากขึ้น เกิดฝ้า (Melasma) และกระแดด (Freckles) รวมไปถึงรอยดําจากการอักเสบ เช่น สิว รอยสิว ปัญหารอยด่างดําต่าง ๆ นอกจากนี้การโดนแดดสะสมเป็นเวลานาน ๆ โดยไม่มีการป้องกัน จะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิด มะเร็งผิวหนัง ซึงจะเริ่มเกิดขึ้นเมื่อมีอายุประมาณ 50 ปีขึ้นไป
• อาการแสดงของโรค
ขึ้นอยู่กับว่ารอยด่างดำนั้นเป็นกระแดด หรือฝ้า โดยสามารถแยกอาการได้ดังนี้
- ฝ้า มีลักษณะเป็นปื้น ๆ แผ่น ๆ เม็ดสีติดกันเป็นรอยคล้ำ สีน้ำตาลอ่อน มักเกิดบริเวณโหนกแก้ม คาง หน้าผาก
- กระแดด ลักษณะจะเป็นแผ่นสีน้ำตาลอ่อน ขอบเขตชัด ขนาด 0.3 – 2 เซนติเมตร
สิ่งที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดของฝ้า และกระแดด คือ ฝ้า จะมีลักษณะเป็นปื้นและมีขนาดใหญ่กว่าขอบเขตไม่ชัดเจน ขณะที่ กระ จะเป็นจุดกลม ๆ เล็ก ๆ มีขอบชัดเจน
วิธีดูแลผิวหนังในหน้าร้อนตามคำแนะนำของแพทย์
นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูร้อนประชาชนต้องพบเจอกับโรคผิวหนังที่อาจมากับแสงแดด ดังนั้นควรดูแลสุขภาพผิวพรรณ ดังนี้
- หลีกเลี่ยงแสงแดดจัด และสถานที่ที่มีอากาศร้อนอบอ้าว
- ป้องกันแดดด้วยการกางร่ม สวมหมวกปีกกว้าง ใส่เสื้อแขนยาว
- อยู่ในที่มีอากาศเย็น ถ่ายเทได้สะดวก เช่น ห้องแอร์ หรือสวนสาธารณะที่ร่มรื่น
- อาบน้ำชำระร่างกายบ่อย ๆ หรือใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำถูตัวทุกครั้งที่รู้สึกร้อน
- ดูแลร่างกายโดยรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำสะอาดให้พอเพียงอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว
- ทำจิตใจให้สบายไม่เครียด พักผ่อนให้เพียงพอ
- ทาครีมกันแดดให้เหมาะกับสภาพผิวอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการใช้ครีมบำรุงผิว
- หากต้องสัมผัสสารเคมีที่ระคายเคืองควรป้องกัน เช่น ใส่ถุงมือ รองเท้าบู๊ท หลีกเลี่ยงสถานที่มีมลพิษ
- ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่
- หมั่นสังเกตความผิดปกติของผิวหนัง เช่น สีผิวคล้ำ หนา ขรุขระมากขึ้นกดผิวแล้วเจ็บผิดปกติ หรือมีอาการชาที่ผิวให้รีบปรึกษาแพทย์
บรรเทาอาการแพ้ทางผิวหนังด้วย ยาแก้แพ้ “ลอราทาดีน”
ลอราทาดีน คือ ยาแก้แพ้ หรือ ยาต้านฮีสตามีนกลุ่มที่ไม่ทำให้ง่วงนอน (non-sedating antihistamines) ใช้สำหรับบรรเทาอาการของลมพิษเรื้อรัง และอาการแพ้ทางผิวหนังอื่น ๆ เช่น ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เป็นต้น
ยานี้ยังใช้สำหรับบรรเทาอาการแพ้ของระบบทางเดินหายใจ เช่น จาม น้ำมูกไหล คันจมูก คันตา แสบตา เนื่องจากโรคภูมิแพ้
อ้างอิง : 1. สสส. 2. สมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืด และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย 3. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ 4. huachiewtcm 5. อย.