คนส่วนใหญ่มักเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการแพ้ยา หรือ ผลข้างเคียงจากการใช้ยา จนอาจมีผลต่อสุขภาพได้ ฉะนั้นมาดูกันว่า อาการแพ้ยา VS ผลข้างเคียงของยา มีความแตกต่างกันอย่างไร จะรู้ได้ไงว่าเราแพ้ หรือแค่ผลข้างเคียง แล้วแบบไหนอันตรายกว่า?
อาการแพ้ยา VS ผลข้างเคียงของยา แตกต่างกันยังไง?
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ระบุถึงความแตกต่างของการแพ้ยา และผลข้างเคียงของยา ไว้ดังนี้
– อาการแพ้ยา คือ ความผิดปกติของร่างกายที่มีต่อยาที่ใช้ ไม่ว่าจะด้วยการกิน ฉีด ทา หยอด สูด ความผิดปกติที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เกิดกับทุกคน ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าว่าผู้ใช้ยาจะแพ้ยาตัวไหน
– อาการข้างเคียงของยา คือ อาการที่เกิดจากฤทธิ์ของยา เช่น ทานยาแก้ปวด Ibuprofen แล้วมีอาการแสบท้องเนื่องจากยาระคายกระเพาะ เรียกว่าเป็นผลข้างเคียงจากยา เพียงแต่จะเกิดขึ้นมากน้อยแตกต่างกันไปขึ้นกับการรับรู้ของแต่ละบุคคล
กล่าวโดยสรุป อาการแพ้ยาอันตรายกว่าผลข้างเคียงของยามาก อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ ส่วนผลข้างเคียงของยาส่วนใหญ่แล้วจะไม่รุนแรง และมักคาดการณ์ได้ว่าหากใช้ยาชนิดใดจะเกิดผลข้างเคียงอย่างไร
ทำความเข้าใจกับ อาการแพ้ยา
การแพ้ยา (Drug allergy) คือ อาการไม่พึงประสงค์จากยาที่แสดงอาการคล้ายคลึงกับโรคภูมิแพ้ เป็นปฏิกิริยาที่เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อต้านยาที่ได้รับเข้าไป ซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าว่าผู้ใช้ยาจะแพ้ยาตัวไหน หากพบว่าทานยาแล้วมีอาการแพ้ยาควรหยุดยาที่ต้องสงสัยทั้งหมด และพบแพทย์เพื่อรักษาอาการแพ้ที่เกิดขึ้นอย่างถูกวิธี และห้ามทานยาที่แพ้ซ้ำอีก
ดังนั้น… ผู้ที่แพ้ยาควรจดจำชื่อยาที่แพ้ให้ได้ และควรพกบัตรแพ้ยาติดตัวไว้เสมอ เพื่อป้องกันการแพ้ยาซ้ำ ทั้งนี้อาการแพ้ยาส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม โดยไม่จำเป็นว่าพ่อแม่มีอาการแพ้ยาแล้วลูกจะต้องแพ้ยาชนิดเดียวกัน
ยาที่ผู้ป่วยมักแพ้ และพบได้ค่อนข้างบ่อย ได้แก่
- ยาต้านจุลชีพ หรือยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลิน แอมพิซิลลิน ยาประเภทซัลฟา เตตราซัยคลีน สเตรปโตมัยซิน เป็นต้น
- ยาแก้ปวด ลดไข้ เช่น แอสไพริน ไดไพโรน
- ยาชา เช่น ไซโลเคน (Xylocaine), โปรเคน (Procaine)
- ยาแก้อักเสบที่ไม่มีสารสเตียรอยด์ เช่น ไอบูโพรเฟน (ibuprofen)
- ยากันชัก (Anticonvulsants)
- เซรุ่มต่าง ๆ เช่น เซรุ่มแก้พิษงู เซรุ่มแก้บาดทะยัก
ผู้ป่วยอาจแสดงอาการแพ้ยาทันทีหลังได้รับยาภายใน 1-6 ชม. หรือแสดงอาการภายหลังโดยอาจแสดงอาการแพ้ยา เมื่อได้รับยามากกว่า 1 ชม. หรืออาจนานถึง 6 สัปดาห์
อาการแพ้ยาที่พบได้บ่อย ได้แก่
• ในรายที่มีอาการแพ้อ่อน ๆ อาจมีเพียงลมพิษ ผื่นคัน หรือมีผื่นแดง จุดแดง หรือตุ่มใสเล็ก ๆ ขึ้นทั่วตัว หน้าบวม หนังตาบวม ริมฝีปากบวม มักเกิดจากการกินยาเม็ด เช่น แอสไพริน เพนวี แอมพิซิลลิน ยาประเภทซัลฟา
• ในรายที่มีอาการแพ้ขนาดกลาง อาจมีอาการใจสั่น แน่นหน้าอก คลื่นไส้อาเจียน หรือหายใจขัดคล้ายหืด มักเกิดจากการใช้ยาฉีด
• ในรายที่เป็นรุนแรง จะมีอาการเป็นลม ตัวเย็น ชีพจรเบาเร็ว ความดันต่ำ และหยุดหายใจ มักเกิดหลังจากฉีดยาประเภทเพนิซิลลิน หรือเซรุ่มในทันทีทันใด บางครั้งอาจถึงแก่ความตายแบบที่เรียกว่า “คาเข็ม” ได้เราเรียกอาการแพ้ยารุนแรงชนิดนี้ว่า ช็อกจากการแพ้ (Anaphylactic shock) หรืออาจพบเป็นลักษณะพุพอง หนังเปื่อยลอกทั้งตัวคล้ายถูกไฟลวก ปากเปื่อย ตาอักเสบ ท่อปัสสาวะอักเสบ มีไข้ ซึ่งเรียกว่ากลุ่มอาการสตีเวนจอห์นสัน (Stevens Johnson Syndrome)
• ในการแพ้เลือด หรือน้ำเกลือ มักมีอาการไข้ หนาวสั่น หรือลมพิษขึ้น โดยทั่วไปยาชนิดฉีดจะทำให้เกิดอาการรุนแรง และรวดเร็วมากกว่าชนิดกิน
รู้ได้อย่างไรว่าแพ้ยา?
ไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้เลยว่าจะแพ้ยาชนิดนั้นหรือไม่ นอกจากได้รับยาเข้าไปแล้วเกิดอาการแพ้เท่านั้น ยกเว้นยาบางชนิดที่แพทย์สามารถใช้การตรวจเลือดประเมินความเสี่ยงของการแพ้ยาได้ เช่น ยากันชัก เป็นต้น ซึ่งจะทำให้รู้ล่วงหน้าว่าคนไข้จะแพ้ยาชนิดนั้นหรือไม่
หากมีอาการแพ้ยา ควรทำอย่างไร?
- หยุดยาและรีบพบแพทย์ หากพบว่ามีอาการผิดปกติหลังได้รับยาภายใน 1 ชั่วโมง หรือภายใน 2-3 วัน
- ควรถ่ายภาพความผิดปกติของตนเองที่เกิดขึ้นเก็บไว้ เพื่อให้แพทย์พิจารณาประกอบ เช่น ภาพผื่น
- หากมีประวัติแพ้ยาควรจดจำชื่อยาที่ตนเองแพ้ และแจ้งแพทย์ทุกครั้งที่เข้ารับการรักษา
- หลีกเลี่ยงการทำให้อาเจียน และการซื้อยาแก้แพ้กินเอง
จำไว้เลย! วิธีป้องกันอาการแพ้ยาที่ดีที่สุด คือหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่แพ้
อ่านเพิ่มเติม -> 9 พฤติกรรมการใช้ยาผิดวิธี ที่ผู้ป่วยมักมองข้าม จนอาจอันตรายถึงชีวิต!
ผลข้างเคียงของยา (Drug Side Effects)
ผลข้างเคียงของยาเกิดจากฤทธิ์ของยาที่มีผลต่อคนส่วนมากซึ่งไม่อันตรายถึงชีวิต และยังสามารถใช้ยาต่อ ได้จนหาย โดยทางเภสัชจะแนะนำการใช้ยาที่ถูกต้อง และลดผลข้างเคียงของยาได้ เช่น
- ยาแก้แพ้ กินแล้วเกิดอาการง่วงนอน (ทั้งนี้ก็มี ยาแก้แพ้ชนิดไม่ง่วงนอน อย่าง ลอราทาดีน)
- ยาคลอแรมเฟนิคอล กินแล้วรู้สึกสับสน คลื่นไส้ อาเจียน
- ยาแก้ปวดที่กัดกระเพาะ กินแล้วเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน แสบท้อง
- ยาที่มีธาตุเหล็ก อาจทำให้อุจจาระมีสีดำ
ผู้ป่วยจำเป็นต้องเรียนรู้ว่า ยาแต่ละชนิดที่เราใช้รักษาอาการป่วยมีผลข้างเคียงที่สำคัญอะไรบ้าง และทุกครั้งที่ใช้ยาจะต้องสังเกตว่า อาจเกิดผลข้างเคียงอะไรบ้าง ถ้ามีก็ควรจะบอกให้หมอทราบ ต่อไปจะได้หลีกเลี่ยง หรือ ป้องกันไม่ให้รับอันตรายจากยาที่ใช้
หากเกิดอาการจากผลข้างเคียงของยา ควรทำอย่างไร?
ผลข้างเคียงจากยามีได้ต่าง ๆ นานา ซึ่งมีความร้ายแรงแตกต่างกันไป โดยทั่วไปมักจะไม่ค่อยมีอันตรายอะไร เช่นง่วงนอน ปวดหัวเล็กน้อย ใจหวิว เมื่อหมดฤทธิ์ยา อาการเหล่านี้ก็จะหายไปได้เอง
วิธ๊ป้องกันอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา ทั้งจากการแพ้ยา และผลข้างเคียงของยา
- ควรมีความรู้เรื่องยา และหลีกเลี่ยงการซื้อยามารับประทานเอง เพราะยาบางชนิดอาจจะมีข้อห้ามใช้ในผู้ป่วยบางราย
- แจ้งข้อมูลการแพ้ยา และโรคประจำตัวของท่านแก่แพทย์ เภสัชกร หรือพยาบาลทุกครั้ง
- เมื่อได้รับยาควรสอบถามทุกครั้งว่ามีข้อควรระวัง และอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยานั้น ๆ อย่างไรบ้าง
- ขณะใช้ยาอาจสงสัยว่าอาจจะเกิดอาการไม่พึงประสงค์ ควรหยุดยาแล้วรับปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร
- ไม่ควรรับประทานยาชุด เนื่องจากจะไม่มีทางทราบเลยว่ายาชุดดังกล่าวประกอบไปด้วยยาอะไรบ้าง ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้มาก
ใครบ้าง ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา
- เด็ก ผู้สูงอายุ
- ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้
- ผู้ที่มีความผิดปรกติทางพันธุกรรม
- ผู้ป่วยที่มีภาวะการทำงานของตับหรือไตบกพร่อง
- ผู้ป่วยที่มีโรคร่วมหลายโรค
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
อ้างอิง : 1. oryor 2. paolohospital 3. province.moph 4. samrong-hosp