ไหนใครเป็นทาสแมว และเป็น ‘ภูมิแพ้ขนแมว’ ด้วย มารวมกันทางนี้เลย! ก็ใจมันรัก อยากจะเลี้ยง แต่ก็แพ้ขนแมวด้วยนี่สิ ทำไงดีล่ะ? ไม่ต้องกังวลไป วันนี้ GedGoodLife มีคำแนะนำดีดี มาฝาก ก็แมวแสนจะน่ารักนี่เน๊าะ ถ้าไม่มีน้องแมว ชีวิตคงเหงาแย่ งั้นตามมาดูทางแก้กันเถอะ!
- ภูมิแพ้ คืออะไร มีสาเหตุ อาการอะไรบ้าง หายขาดได้หรือไม่? พร้อมวิธีรักษาภูมิแพ้
- ฟัดด้วยทีไร ฮัดเช่ยทุกที! ภูมิแพ้ขนสัตว์ สาเหตุ อาการ และวิธีรักษา
- ยาแก้แพ้ มีกี่ชนิด และควรเลือกอย่างไรดี?
ที่ว่าแพ้ขนแมว แท้จริงแล้ว แพ้ขนแมวแน่หรอ!?
ภูมิแพ้ขนแมว (Cat Allergies) เป็นคำเรียกติดปากของทาสแมว ที่มักมีอาการน้ำมูกไหล ไอ จาม ทุกครั้งที่เข้าไปเล่นกับน้องแมว แต่จริง ๆ แล้ว คุณหมอบอกว่า เราไม่ได้แพ้ขนแมวกันหรอกนะ แต่เราแพ้ฝุ่นที่ติดมาตามตัวแมว และโปรตีนในน้ำลายของแมวตอนเลียขน ต่างหากล่ะ!
อนุภาคของสารก่อภูมิแพ้ในขนแมว สามารถติดเสื้อผ้า ไปแพร่กระจายในห้องเรียน ห้องทำงาน หรือที่อื่น ๆ ได้ด้วย ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้คนที่ไม่ได้เลี้ยงแมว ก็อาจจะมีอาการแพ้ขนแมวได้เช่นกัน
จากการสำรวจ พบว่ามีผู้ที่มีอาการแพ้แมวมากกว่าผู้ที่มีอาการแพ้สุนัข ในปี 2018 มีการเก็บข้อมูลในคลินิกโรคภูมิแพ้ โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่า คนไทยแพ้แมว 12.9% และแพ้สุนัข 10% เท่านั้น
รู้หรือไม่? กองทุนระหว่างประเทศเพื่อสวัสดิการสัตว์ (International Fund for Animal Welfare) กำหนดให้วันที่ 8 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันแมวสากล หรือ วันแมวโลก (International Cat Day) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002 เพื่อกระตุ้นความตระหนักรู้เกี่ยวกับแมว ในขณะเดียวกันแมวก็เป็นสัตว์เลี้ยงที่สามารถทำให้ผู้เลี้ยงมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น บรรเทาความเครียดความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้าได้
อาการ ภูมิแพ้ขนแมว มีอะไรบ้าง?
อาการแพ้ขนสัตว์ หรือขนแมว สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
อาการทางระบบทางเดินหายใจ
- ทำให้คัดจมูก
- น้ำมูกไหล จามบ่อย หรือรุนแรงถึงขั้นหายใจไม่ออก
- หลอดลมตีบ และมีอาการหอบ
- คันเพดานปาก และในลำคอ
- เจ็บคอเรื้อรัง
อาการทางผิวหนังที่เกิดจากการสัมผัสโดยตรง
- อาจทำให้เกิดผื่นแดง
- มีอาการคัน เกิดผื่นลมพิษ
อาการทางดวงตา
- ระคายเคืองตา
- ตาแดง
- คันตา
- น้ำตาไหล
- มีอาการตาบวมอย่างเห็นได้ชัด
วิธีพิสูจน์เราเป็น ภูมิแพ้ขนแมว จริงหรือไม่?
รู้หรือไม่ ภายในบ้านเรามีสารก่อภูมิแพ้มากมาย ฉะนั้นเราอาจจะไม่ได้แพ้ขนแมวก็ได้ อาจจะเป็นอาการแพ้จากสารก่อภูมิแพ้ภายในบ้านของเรานี่แหละ จึงต้องลองพิสูจน์หาความจริง ด้วยวิธีดังนี้
1. ดูจากอาการ – เช่น มีอาการหอบหืดกำเริบ ไอ น้ำมูก คัดจมูก จาม หรือถึงขั้นไซนัสอักเสบ สัมพันธ์กับการสัมผัสกับน้องแมวไหม ถ้าสัมผัสน้องแมวทีไร มีอาการดังกล่าวทุกที มีโอกาสสูงที่จะเป็นภูมิแพ้ขนแมวได้
2. ตรวจ Skin test ตรวจผิวหนัง เลือด – คุณหมอจะทำการเทสต์ว่า ในเลือดเรา หรือผิวหนังเรามีภูมิต้านทานต่อโปรตีนของแมวไหม ถ้าเรามีอาการหลังการตรวจก็อาจจะเป็นภูมิแพ้ขนแมวจริง แต่ถ้าผลตรวจแล้วไม่เจอ ไม่มีอาการ แสดงว่าเราแพ้อย่างอื่นที่ไม่ใช่ขนแมว
6 วิธีลด เลี่ยง ป้องกันอาการแพ้ขนแมว
1. อาบน้ำ แปรงขนให้น้องแมวบ่อย ๆ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
2. ดูดฝุ่นเป็นประจำ โดยเฉพาะบริเวณที่น้องแมวอาศัยอยู่
3. ใส่แมสก์ตอนเล่นกับแมว เพื่อป้องกันไม่ให้สารก่อภูมิแพ้เข้าจมูก
4. ล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ หลังเล่นกับแมว
5. ไม่เลี้ยงแมวในห้องนอน เพราะการได้รับอากาศที่บริสุทธิ์ในตอนกลางคืนอย่างน้อย 8 ชั่วโมง จะทำให้เรามีภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้นในตอนกลางวัน
6. กิน ‘ยาแก้แพ้’ เมื่อมีอาการ เช่น ยาแก้แพ้ที่มีตัวยาลอราทาดีน ไม่ทำให้ง่วง ปลอดภัย ลดอาการแพ้ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สุดท้ายนี้ หากรู้ตัวว่าเราเป็นภูมิแพ้ขนแมว ควรคิดพิจารณาให้ดีว่า เราจะสามารถเลี้ยงเขาอย่างมีความสุขไปตลอดได้หรือไม่ ไม่ควรเลี้ยงทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ หรือเอาน้องแมวไปทิ้ง จนกลายเป็นภาระที่ผู้อื่นต้องมารับผิดชอบแทนเรา เพราะน้องแมวก็มีหัวใจ อยากได้ความรักความอบอุ่นเช่นกัน
อ้างอิง : 1. ThaiPBS 2. หมอวินัยโบเวจา 3. wikipedia